วัดที่มีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปีแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมทีชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหญ่” บ้าง “วัดจอมปราสาท” บ้าง หรือ “วัดใหญ่จอมปราสาท” บ้าง ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามเสียใหม่ว่า “วัดสาครบุรี” พร้อมกับพระราชทานพระไตรปิฎกบรรจุตู้ละจบจำนวน 39 เล่มในฐานะที่วัดนี้เป็นพระอารามหลวงนั่นเอง น่าชม พระอุโบสถ มีจุดเด่นอยู่ที่บานประตูไม้ที่แกะสลักลึกเข้าไปในเนื้อไม้ถึง 4 ชั้น ทำให้มีลักษณะเหมือนภาพสามมิติและด้วยรายละเอียดอันวิจิตรงดงามและฝีมือเชิงช่างที่หาตัวจับยาก กรมศิลปากรจึงได้ ขึ้นทะเบียนให้เป็นศิลปวัตถุของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยบานประตูบานหนึ่งแกะเป็นลวดลายเถา ดอกไม้ ใบไม้ สัตว์ต่าง ๆ ส่วนอีกบานแกะสลักเป็นรูปป่าสนจีนคล้ายต้นจากและต้นมะพร้าว พระวิหารเก่าซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาแม้ปัจจุบันมีสภาพปรักหักพัง แต่ภายในก็ยังมีความงามให้เห็นผ่านซุ้มประตูหน้าต่างที่เป็นซุ้มหน้านางซึ่งประดับลวดลายปูนปั้น ศาลาการเปรียญมีหน้าบันไม้แกะสลักลวดลายก้านขดและพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีความงดงาม ยากจะหาใดเปรียบ