เผยแพร่:
ปรับปรุง:
โดย: กิตตินันท์ นาคทอง
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สวัสดีจากพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
วันนี้คนสมุทรสาครชินชากับสถานการณ์โควิด-19 แล้ว แม้จะต้องเจอกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 700-800 คน คนที่อยู่นอกจังหวัดอาจจะรู้สึกตื่นเต้น แต่ทุกคนก็ปรับตัวแบบนิวนอร์มัล สวมหน้ากาก และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด
ทุกวันนี้ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าแถวบ้าน ลูกค้ามาเดินเล่น จับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง แม้จะเป็นวันอาทิตย์ที่ปกติผู้คนจะแน่นกว่าวันธรรมดาก็ตาม ช่วงนี้กลับหงอยเหงาอย่างผิดหูผิดตา แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทุกคนย่อมรักตัวกลัวตายทั้งนั้น
มาตรการล่าสุดที่ออกมาจากทางจังหวัดสมุทรสาคร คือ ให้พื้นที่บางส่วนของตำบลนาดี และตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อธิบายแนวเขตให้เห็นภาพก็คือ ถนนพระราม 2 ตั้งแต่ห้างไทวัสดุถึงสะพานท่าจีน ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ทั้งเส้น ถนนเศรษฐกิจ 1 ผ่านหน้าวัดบางปิ้งเป็นต้นมา และถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ตั้งแต่วัดพันธุวงษ์ ถึงสี่แยกโรงเรียนบ้านบางปิ้ง
ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหะสถาน ห้ามเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชนที่มีประชาชนหนาแน่น พร้อมกับติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และ “DDC Care” เพื่อใช้ประโยชน์ติดตามและสอบสวนโรค
เรื่องของเรื่องก็คือ ตอนนี้ทางจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการที่เรียกว่า “บับเบิล แอนด์ ซีล” (Bubble & Seal) คือกำหนดให้พนักงานโรงงานเดินทางได้เฉพาะหอพักกับโรงงาน และโรงงานกับหอพักเท่านั้น ห้ามแตกแถวเด็ดขาด
โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่ละชุมชน เดินไปรับ ไปส่งระหว่างโรงงานกับหอพัก ถ้าขึ้นรถกลับจะมีเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ขณะที่ตำรวจและทหาร จะคอยอำนวยความสะดวกด้านนอกโรงงาน
สาเหตุเกิดจากการตรวจเชิงรุกในโรงงานขนาดใหญ่ 7 แห่ง พื้นที่ตำบลท่าทราย นาดี บางหญ้าแพรก ชัยมงคล อำเภอเมือง และตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน ประมาณ 45,000 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 7,800 คน
โดยพบว่ามีโรงงานขนาดใหญ่ 4 แห่ง ย่านคลองครุ ซึ่งเป็น “โรงงานผลิตปลากระป๋อง” ในพื้นที่ตามประกาศจังหวัดสมุทรสาครฉบับล่าสุด ตรวจคัดกรองไป 38,000 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 7,400 คน
จึงเป็นที่มาของมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล เพื่อต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เบ็ดเสร็จภายใน 28 วัน (หากนับจากวันที่ออกประกาศ ประมาณวันที่ 3 มีนาคม 2564) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีความเสี่ยงต่ำ คือสองเท่าของระยะฟักตัว (14 วัน)
โดยมีโรงงานกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดำเนินการบับเบิล แอนด์ ซีล โดยทันที 7 แห่ง และระยะต่อไปอีก 6 แห่ง
ที่เรียกว่า “บับเบิล แอนด์ ซีล” หมายถึง โรงงานไหนที่ให้พนักงานกินนอนในโรงงานได้ก็อยู่ในนั้น เรียกว่า “ซีล” (Seal) แต่ถ้าโรงงานไหนหอพักอยู่ข้างนอกโรงงาน ก็ให้จัดคนมาควบคุมเส้นทาง ห้ามแตกแถว เรียกว่า “บับเบิล” (Bubble)
แรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ อาจจะอึดอัดกับมาตรการนี้ไปบ้าง บางโรงงานให้พนักงานคนไทยเซ็นใบยินยอมปฏิบัติตามกฎของบริษัท แม้จะไม่ถึงขนาดมีคนคอยมาคุม แต่ก็ต้องติดตั้งแอป DDC Care และเปิด GPS ตลอดเวลา
ส่วนใครที่ผ่านไปผ่านมาในจังหวัดสมุทรสาคร ถ้าเห็นรถสองแถวรับส่งพนักงานโรงงาน หรือการเดินเท้าต่อแถวกันโดยเว้นระยะห่าง ขออย่ารังเกียจกันเลย เพราะทุกคนกำลังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า จังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานรวมทั้งสิ้น 6,123 แห่ง จำนวนคนงานรวม 349,777 คน สามอันดับแรกคือ ผลิตภัณฑ์พลาสติก รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมอาหาร
แม้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะกำหนดให้สมุทรสาครเพียงจังหวัดเดียวเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่หากมองไปยังลึกๆ พบว่าจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น
ที่น่าสังเกตก็คือ ที่ผ่านมาแม้หลายภาคส่วนจะให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็พบว่ามี “โรงงานตัวแสบ” บางแห่งใช้มาตรการคัดกรองแบบต่างคนต่างทำด้วยวิธีการแบบผิดๆ นำไปสู่ความพินาศฉิบหายกันมาแล้ว
ก่อนจะกล่าวถึง “ความแสบ” ของโรงงานบางแห่ง มีอยู่สองอย่างที่อยากจะขอชื่นชม
อย่างแรก ขอชื่นชม “วัฒนา แตงมณี” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม ที่เรียกว่า “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” ตามแนวคิดของ “ผู้ว่าฯ ปู” วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร
จุดเริ่มต้นมาจากตอนนั้น ผู้ว่าฯ ปู จะทำโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยได้พักรักษาตัวให้หายและมีภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้ปะปนกับประชาชนหรือคนในชุมชน
เดิมผู้ว่าฯ ปู ติดต่อไปยังนายกวัฒนา ขอพื้นที่สวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม ทีแรกนายกวัฒนายินยอมให้ใช้ แต่ปรากฎว่าชาวบ้านศาลพันท้ายนรสิงห์ไม่ยินยอม อ้างว่าใกล้แหล่งท่องเที่ยว กลัวว่าอาหารทะเลจะขายไม่ได้
ต่อมาขอใช้พื้นที่วิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร ปรากฎว่าชาวบ้านชุมชนวัดตึกมหาชยาราม และชุมชนโกรกกราก ปิดทางเข้าไม่ยอมให้ตั้งโรงพยาบาลสนาม อ้างว่าเชื้อโควิด-19 ลอยมาตามลม กลัวว่าคนในชุมชนจะติด
สุดท้ายจึงตัดสินใจก่อตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาคร ถนนเอกชัย หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครพอดี พร้อมกันนี้ วัดโกรกกรากยังอนุเคราะห์ให้ลานปฏิบัติธรรมตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาครอีกแห่ง
ส่วนนายกวัฒนา ตัดสินใจใช้โครงการวัฒนาแฟคตอรี่ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่เปิดขาย เป็นศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 3 จำนวน 240 เตียง ยกให้ทางจังหวัดนำพื้นที่ไปใช้แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย
คำพูดสุดท้ายที่ผู้ว่าฯ ปู กล่าวกับนายกวัฒนา คือ “ขอให้ช่วยหาพื้นที่ทำเป็นโรงพยาบาลสนามให้อีก เพราะถ้าไม่มีโรงพยาบาลสนามก็สู้ไม่ไหวแล้ว” ก่อนที่จะตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้วพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชมาถึงปัจจุบัน
ต่อมานายกวัฒนา ตัดสินใจใช้ที่ดิน 8 ไร่ ก่อสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 8 ขนาด 1,000 เตียง แล้วเสร็จภายในเวลา 22 วัน โดยออกเงินก่อสร้างเอง ไม่พึ่งงบประมาณของทางราชการ ก่อนเปิดใช้ไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร มีศูนย์ห่วงใยคนสาคร 8 แห่ง รวม 3,224 เตียง กำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 2 แห่ง โดยมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาตัวแล้วประมาณ 2,000 ราย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวกว่า 6,000 ราย
นับเป็นความเสียสละอย่างหนึ่งของคนสมุทรสาคร ที่ทำให้นึกถึงคำพูดทำนองว่า “ในยามที่ยากลำบาก จะรู้ว่าใครคือมิตรแท้” ยังดีกว่าพวก “นักลงทุนต่างถิ่น” รายใหญ่ๆ บางคน ที่ไม่เคยเห็นความสำคัญของชีวิตเพื่อนมนุษย์
อย่างที่สอง ขอชื่นชม “โรงงานพัทยาฟู้ดส์” ผู้ผลิต “นอติลุสทูน่า” ที่กล้าออกมายอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าโรงงานมีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 และเป็นคนที่ทำต้นแบบ “ศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร” หรือ Factory Quarantine
หากจำกันได้ มีอยู่ช่วงหนึ่งข่าวลือกระจายกันในหมู่กลุ่มไลน์ชาวจังหวัดสมุทรสาคร ว่ามีคนงานโรงงานทูน่ากระป๋องติดโควิด-19 มากกว่า 900 คน ซึ่งตอนหลังสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครชี้แจงว่า เป็นผลที่ประกาศไปแล้ว 2 วันรวมกัน
โรงงานพัทยาฟู้ดส์ ถือเป็นโรงงานแห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร ที่กล้ารับผิดชอบต่อสังคม ประกาศปิดโรงงานชั่วคราว พร้อมกับดูแลพนักงานด้วยตัวเอง ให้กักตัวตามที่รัฐกำหนด โดยยังคงจ่ายค่าแรงให้ตามปกติ
กระทั่งออกแบบ “ศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร” หรือ Factory Quarantine เป็นแห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร บริเวณคลังสินค้าของโรงงาน ห่างจากโรงงานผลิตประมาณ 10 กิโลเมตร รองรับได้ 600 ที่นอน
พอคัดกรองและกักตัวครบแล้ว ก็กลับมาผลิตบางส่วน เน้นป้องกันโควิด-19 ขั้นสูงสุด พอผลิตเสร็จแล้วก่อนออกขายต้องตรวจสอบความปลอดภัยอีก 2 สัปดาห์ ฉีดพ่นด้วยแอลกอฮฮล์ก่อนบรรจุลงกล่อง ก่อนส่งถึงมือสถานที่จัดจำหน่ายอีกด้วย
ใครคิดจะอุดหนุนปลากระป๋อง ไม่ต้องกลัวว่าจะติดโควิด-19 เพราะทุกโรงงานนำไปฆ่าเชื้อด้วยความร้อน อุณหภูมิกว่า 110 องศาเซลเซียส ซึ่งปกติเชื้อโควิด-19 เจอความร้อนเกิน 70 องศาเซลเซียสก็ตายหมดแล้ว
มากล่าวถึง “โรงงานตัวแสบ” ถ้าจะพูดเองก็กระไรอยู่ แต่พบว่ามีเฟซบุ๊กเพจที่ชื่อว่า “หมอสายดาร์ก” ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเคสโควิด-19 มากกว่า 170 เคสในพื้นที่ อ่านแล้วก็ได้แต่ตกใจ
พบว่ามีโรงงานบางแห่งใช้ชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Test ที่ราคาถูกกว่าตรวจแบบ RT-PCR แบบสอดไม้ผ่านโพรงจมูก (Swab) ประมาณ 10 เท่า มาตรวจคัดกรองกันเองในโรงงาน
แม้แพทย์จะออกมาเตือนหลายครั้งว่า ถ้าซื้อชุด Rapid Test มาตรวจเอง จะมีความเสี่ยงต่อการแปลผลที่ผิดพลาด และแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน ไม่ใช่ตรวจหาเชื้อ แต่ก็ยังทำต่อไป
ปรากฎว่า ผลตรวจเป็นลบ แต่เป็น “ผลลบแบบหลอกๆ”
เพราะบางคนที่ผลเป็นลบ อาจจะติดโควิด-19 แล้ว มีโอกาสแพร่เชื้อได้ เพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นอยู่ในภูมิคุ้มกัน (Antibody) เลยไม่รู้ว่าป่วย ทางโรงงานก็ยังไม่ปิดไลน์ผลิต ผู้ติดเชื้อก็เข้าไปทำงานต่อ ก็เกิดการแพร่ของโรคไปเรื่อยๆ
มิหนำซ้ำ คนกลุ่มนี้ยังคิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไร ทำให้ขาดการระวังตัว ไปเดินตลาดทุกวัน ไปร้านค้าใกล้บ้าน หลายคนมีอาการ แต่ก็บอกว่าตรวจไปแล้ว เลยไม่คิดว่าเป็น ถ้าเป็นแรงงานยังพอเข้าใจ แต่ระดับหัวหน้ากลับไม่ศึกษาให้ดี
พอทางจังหวัดตรวจคัดกรองเชิงรุก จึงได้รู้ว่าแท้ที่จริงมีผู้ติดเชื้อในโรงงานเท่าไหร่แล้ว ตรวจไป 2,000 กว่าคน พบเชื้อ 500 คน ไม่พบเชื้อ 1,200 คน ที่เหลือผลยังไม่ชัดเจน นี่คือผลกรรมของจังหวัดที่ไม่สามารถควบคุมโรงงานไว้ได้ตั้งแต่แรก
แสดงให้เห็นว่า “ถ้าตรวจไม่ดี ไม่ตรวจอาจจะดีกว่า”
ที่น่าตกใจขึ้นไปอีกก็คือ อ่านข่าวใน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับล่าสุด (6 กุมภาพันธ์ 2564) พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 บางโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร มากกว่าเคสพัทยาฟู้ดส์ ที่ติดเชื้อราว 900 กว่าคนเสียอีก
เพียงแต่ในช่วงนั้นเลือกที่จะบอก “ความจริงครึ่งเดียว” โดยอ้างว่าพบผู้ติดเชื้อเพียงแค่หลักสิบคน อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่มีผลกระทบต่อกำลังการผลิต แต่พอผ่านไปกลับพบว่า ผู้ติดเชื้อเป็นตัวเลข 4 หลัก!
บริษัท A มีพนักงานทั้งหมด 12,549 คน พักอยู่นอกโรงงานทั้งหมด ปรากฎว่าผลเป็นบวก 2,713 คน หรือ 23.99%
บริษัท B มีพนักงานทั้งหมด 11,779 คน พักอยู่นอกโรงงานทั้งหมด ปรากฎว่าผลเป็นบวก 2,130 คน หรือ 20.41%
บริษัท C มีพนักงานทั้งหมด 14,076 คน พักอยู่ในและนอกโรงงาน ปรากฎว่าผลเป็นบวก 1,650 คน หรือ 12.83%
นี่ไม่นับรวมโรงงานอื่นๆ ที่ยังไม่เปิดเผยตัวเลข และยังไม่เป็นข่าวอีก ปัญหาก็คือ ผู้ติดเชื้อในโรงงานมีเกือบ 1 หมื่นราย แต่โรงพยาบาลสนามทั้งจังหวัดรวมกันรองรับได้ประมาณ 3,000 กว่าเตียงเท่านั้น ส่วน Factory Quarantine มีประมาณ 3,000 กว่าเตียงเช่นกัน
ที่น่าสมเพชก็คือ ทราบมาว่าโรงงานขนาดใหญ่บางแห่ง พอรู้ว่ามีพนักงานติดเชื้อจำนวนมาก ก็ยังพยายามจะมาขอใช้โรงพยาบาลสนามแบบฟรีๆ ทั้งที่ผ่านมาเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ กอบโกยไปไม่รู้เท่าไหร่
การทำบับเบิล แอนด์ ซีล กับโรงงานเป้าหมายขนาดใหญ่ 7 แห่ง ปรากฎว่ามีอยู่แห่งเดียวที่สามารถให้พนักงานกินนอนในโรงงานได้ นอกนั้นต้องใช้วิธีควบคุมเส้นทางระหว่างโรงงานกับหอพัก
ปัญหาก็คือ คนงานในพื้นที่ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติออกมาประท้วง ไม่อยากให้กินนอนในโรงงาน อ้างว่าขัดต่อเสรีภาพ ต้องห่างครอบครัว ตอนนั้นโรงงานต้องพับแผนไปก่อนโดยปริยาย
พอได้ยินอย่างนั้นแล้ว คนไทยอย่างเราก็เกิดความรู้สึกว่า “อิหยังวะ”
การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามโรงงานต่างๆ เหมือนเป็นการจับปูใส่กระด้ง หลายคนอาจมองว่าแก้ไม่ได้หรอก แต่ก็อยากจะให้กำลังใจทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาเหล่านี้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
หากยอมรับความจริงและร่วมมือกันอย่างจริงจัง สถานการณ์เลวร้ายในจังหวัดสมุทรสาครตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลง นำไปสู่การคลายล็อกให้กลับมาใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ