พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และคณะ เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่างและระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ
นายธัญญากล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่างและระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจของ จ.สมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาลในการประกอบกิจการ โดยมีสถิติการใช้น้ำบาดาล 5 ปีย้อนหลังมากกว่า 110,000 ลบ.ม.ต่อวัน หรือมากกว่า 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และมีแนวโน้มการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้น โดยการสำรวจพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่คุณภาพดีที่ความลึก 1,008 เมตร ในชั้นหินตะกอนแห่งแรกของประเทศไทย และพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในแอ่งย่อยธนบุรีที่ระดับความลึกตั้งแต่ 640 ถึง 1,008 เมตร จำนวน 5 ชั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงข้อมูลชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญของประเทศไทยในรอบ 30 ปี ที่แต่เดิมมีข้อมูลชั้นน้ำบาดาลในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ระดับความลึกไม่เกิน 600 เมตร ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค สร้างความมั่นคงและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมสามารถนำข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อภาคการผลิตในอนาคตต่อไป
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผอ.สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวว่า ขั้นตอนการสำรวจบ่อน้ำบาดาลความลึก 1,008 เมตร ประกอบด้วย การศึกษาสภาพธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ และข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน การเจาะสำรวจบ่อที่ความลึก 1,008 เมตร พร้อมเก็บตัวอย่างดิน หิน ทุกๆ 1 เมตร และวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำโคลนที่ใช้ในการเจาะ การหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ เพื่อตรวจสอบชั้นดินชั้นหินที่ระดับความลึกต่างๆ จนถึงระดับความลึก 1,008 เมตร การเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลด้วยวิธี Packer Test เพื่อคัดเลือกชั้นน้ำที่ดีที่สุด การก่อสร้างและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล พร้อมสูบทดสอบปริมาณน้ำระยะเวลา 75 ชั่วโมง เพื่อประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคต.