วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2025

โควิด-19 : ผู้ป่วยโควิดชาวเมียนมา ผู้ช่วยแปลภาษาใน รพ.สนามสมุทรสาคร

โรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร สถานที่ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจากตลาดกลางกุ้งจำนวนเกือบ 700 คน เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จะดำเนินงานไปด้วยความราบรื่นไม่ได้เลย หากขาดอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ที่ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือชาวเมียนมาที่กักตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนามแห่งนั้นเอง

“โอ กู ลา” ตัวร้อนไหม

“เซาตู” ไอไหม

นี่เป็นคำถามบางส่วนที่ สาน เซน เซน โซ (San Seint Seint Soe) หญิงชาวเมียนมาวัย 35 หรือชื่อไทยว่า “แก้ว” อาสาสมัครฯ ที่ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษา ต้องคอยถามเพื่อนชาวเมียนมาตลอด 14 วัน ระหว่างการกักตัวในโรงพยาบาลสนาม

แก้ว เป็นหนึ่งใน อสต. 35 คน ที่คอยช่วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมุทรสาครสื่อสารแปลภาษา ตลอดจนดูแลความเป็นอยู่ภายในพื้นที่ผู้ป่วยที่ถือว่าเป็น “พื้นที่สีแดง” ซึ่งนับได้ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดการแพร่เชื้อสู่กันและกัน

แต่การมี อสต. ซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยกันเองนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ลง

“แก้ว” เข้ามาทำงานในเมืองไทยกว่า 10 ปีแล้ว เธอเป็นหนึ่งในแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ที่หอพักย่านตลาดกลางกุ้ง ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกสอง เธอทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายหมากพลูซึ่งมีเจ้าของเป็นคนไทย เธออยู่ในกลุ่มแรงงานกลุ่มแรกที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อปลายเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว อีกราวสองสัปดาห์ถัดมา แก้วได้เข้ารับการกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม ที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร ตามมาตรการลดการติดต่อของโรคที่ทางจังหวัดจัดไว้

“ตื่นเต้นแล้วก็ตกใจด้วยค่ะ เพราะว่าเขาก็ไม่รู้กันว่าเชื้อมาจากไหน” แก้วบอกกับบีบีซีไทย ด้วยภาษาไทยที่คล่องแคล่วชัดเจน ถึงนาทีที่รู้ผลว่าตัวเองเป็นหนึ่งในแรงงานที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

“แต่ติดเชื้อเราก็ไม่เสียใจนะ เพราะว่าเราก็ต้องไปรักษา เพราะว่าเราก็ไม่ได้ตั้งใจให้เชื้อเข้ามา เค้าคงติดมาเอง เราก็ไม่ได้เครียด บางคนก็เครียดหน่อยนึง เครียดว่าเป็นหนักไหม อะไรไหม แต่พี่แก้วไม่เครียด เพราะถ้าเราเป็นก็ต้องไปตรวจ ถ้าตรวจเจอเวลาเขาพาไปเราก็ไปเท่านั้น ก็ไม่ได้เครียดอะไร”

จาการเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการที่ถูกส่งตัวเข้าไปยังโรงพยาบาลสนามกลุ่มแรก ๆ แล้วแก้วกลายเป็นมาเป็นอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.) ได้อย่างไร เธอเล่าให้ฟังว่า เมื่อไปอยู่ที่นั่น เธอสังเกตเห็นผู้ที่สวมหมวกสีเขียว คอยช่วยงานเจ้าหน้าที่ พาผู้กักตัวที่เข้ามาใหม่เข้าไปส่งที่เตียงผู้ป่วยที่จัดไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามสมุทรสาคร ได้สอบถามแรงงานที่เพิ่งเข้าไปว่า ใครพูดภาษาไทยได้บ้าง แก้วบอกว่า เธอไม่ลังเลที่จะแสดงตัวว่าต้องการช่วยเจ้าหน้าที่

ที่มาของภาพ, โรงพยาบาลสมุทรสาคร

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลสมุทรสาคร ฝึกอบรมแนวทางการปฏิบัติงานอาสาดูแลผู้ป่วย ให้กับชาวเมียนมาที่เป็น อสต.

“(เจ้าหน้าที่) เขาถามว่ามีใครพูดไทยได้บ้าง ทีนี้พี่แก้วก็พูดไทยได้ เราก็เข้าใจด้วย พี่แก้วก็ชูมือเลย พี่แก้วได้ค่ะ”

หลังจากได้อาสาจำนวนหนึ่งแล้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมุทรสาครซึ่งเป็นส่วนงานที่ดูแลการฝึกอบรมอาสาสมัคร ได้แจ้งให้ทราบถึงหน้าที่หลัก ๆ ของพวกเขา ซึ่งก็คือการดูแลสอดส่องว่าผู้ป่วยที่กักตัวอยู่มีอาการอย่างไร ใครมีอาการเป็นไข้ ไอ หรือมีน้ำมูก ก็ต้องคอยแจ้ง คอยสื่อสารมายังเจ้าหน้าที่เพื่อให้ยารักษาตามอาการ โดยการสื่อสารจะทำผ่านจุดที่มีการตั้ง “หุ่นยนต์กระจก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์แท็บเล็ตที่ถูกติดตั้งไว้ตามจุดให้ผู้ป่วยแจ้งอาการกับเจ้าหน้าที่

“บางคนปวดหัว ก็พาเขาไปขอยา โดยการพามาวิดีโอคอล ให้โทรไปบอกว่า คนนี้ บัตรนี้ เตียงนี้ ปวดหัวเป็นไข้ เจ้าหน้าที่ก็เอายามาให้”

การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่อีกวิธีหนึ่งคือแก้วจะบันทึกเสียงโดยพูดเป็นภาษาไทย แล้วส่งผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ เจ้าหน้าคนไทยก็จะบันทึกเสียงตอบกลับ

แรงงานหญิงชาวเมียนมา บอกว่า ที่เธอพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วนี้ จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ไปเรียนจากที่ไหน แต่การทำงานเป็นแม่บ้านตั้งแต่ย้ายมาอยู่เมืองไทยใหม่ ๆ เมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้เธอได้เรียนรู้จากคนไทยที่เป็นเจ้าของบ้าน หรืองานขายของที่ทำ ก็เปิดโอกาสให้เธอได้พูดภาษาไทย จึงได้เรียนรู้ได้ไม่ยาก

“ส่วนมากในตลาดกุ้งคนพูดไทยไม่ค่อยได้กัน เพราะว่ามีแต่พม่า มอญ กะเหรี่ยง รวมกันหมดค่ะ เขาก็คุยแต่ภาษาพวกเรา”

อสต. ยังเป็นเสมือนหัวหน้าห้องที่ดูแลความเรียบร้อย ทุกข์สุขของเพื่อน ๆ แรงงาน เช่น เรื่องอาหารการกินเพียงพอหรือไม่ การดูแลรักษาความสะอาด และยังคอยรับฟังอาการเครียดวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในช่วงของการกักตัว 14 วัน

“พี่แก้วก็บอกอย่างนี้ ไม่ต้องเครียดหรอก ไม่ได้เป็นไรมากมาย เดี๋ยวก็หายไปเอง” แก้วเล่าถึงผู้ป่วยที่สูงวัยคนหนึ่งซึ่งมีอาการเครียดในช่วงเข้ามาที่โรงพยาบาลสนามใหม่ ๆ

คำถามที่แก้วรับฟังมาจากเพื่อนแรงงานบ่อยครั้งเพื่อฝากไปยังเจ้าหน้าที่คือ “เขาจะได้กลับเมื่อไหร่ ต้องอยู่กี่วัน ต้องตรวจอีกไหม”

การดูแลติดตามและถามไถ่ความเป็นอยู่จากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นความประทับใจที่แก้วรู้สึกได้ตลอดช่วงการกักตัว เธอบอกด้วยว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้มาช่วยทำหน้าที่นี้ แม้ไม่มีค่าตอบแทนหรือบางครั้งการดูแลคนหมู่มากจะมีเรื่องทำให้ท้อใจบ้าง

“เรามาช่วยนี้ เราได้บุญด้วย เรามีน้ำใจช่วย เพราะว่าเราก็เป็นคน (บ้าน) เดียวกัน เรามาจากประเทศพม่ากัน แล้วเราก็ต้องช่วยเจ้าหน้าที่ด้วย”

“เวลา (เจ้าหน้าที่) เขาเข้ามาน่าสงสารมาก ใส่ชุด (พีพีอี) มันร้อนมาก ขนาดเราไม่ได้ใส่ชุดเรายังร้อนเลย แต่เขาใส่ชุดมาทั้งวันแล้วคิดดู เวลาเค้าใส่ชุดมา เหงื่อเค้าเป็นน้ำเลย… เราก็อยากจะช่วย เพราะว่าเราก็ดู (เฉย ๆ ) ไม่ได้เนอะ เขาเข้ามาลำบากมาก กลัวติดยังไงเขาก็ต้องเข้ามาใช่ไหม”

แก้วเป็นผู้ป่วยชุดแรกที่ออกจากโรงพยาบาลสนามแล้วหลังจากครบกำหนดกักตัวและตรวจไม่พบเชื้อ แต่ทุกวันนี้ เธอยังมาช่วยงานที่โรงพยาบาลสนามในตลาดกุ้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่ร้านค้าที่เธอรับจ้างทำงานยังไม่กลับมาเปิด

เธอบอกกับบีบีซีไทยว่า ตอนนี้มีเงินติดตัว 200 บาท และมีเพียงรายได้จากการขายซิมการ์ดและอินเทอร์เน็ตเล็ก ๆ น้อย ๆ วันละ 30 บาทเท่านั้น เธอวางแผนไว้ว่าหากทางการเปิดให้แรงงานต่างชาติเดินทางได้เมื่อใด แก้วจะกลับไปหาลูกวัย 8 ขวบ ที่ไม่ได้เจอมาแล้วเกือบสองเดือนที่บ้านบริเวณชายแดนเมียนมา-กาญจนบุรี

“คนพม่าทุกคนที่เขาให้กักตัว 14 วัน ไม่ต้องกลัวนะ เขามากับลม เขาก็ไปกับลม ไม่ต้องกลัวมาก ไม่ต้องเครียดอะไร เราก็ทำงานไป เราก็สู้ต่อไป ส่งเงินให้พ่อแม่ ให้ลูก” แก้วทิ้งท้ายเป็นภาษาเมียนมาให้กำลังใจเพื่อนร่วมประเทศ ก่อนแปลเป็นภาษาไทยให้เราฟัง

ที่มาของภาพ, โรงพยาบาลสมุทรสาคร

คำบรรยายภาพ,

สาธิตการใช้งานจุดแจ้งอาการป่วยของผู้ที่กักตัวไปยังทีมแพทย์พยาบาลผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ตที่เรียกกันว่า “หุ่นยนต์กระจก”

ภารกิจสร้าง อสต.ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร

สำหรับรุ่งเรือง รัตนบรรเทิง นักวิชาการโสตทัศนศึกษา โรงพยาบาลสมุทรสาคร หรือ “พี่ติน” ของบรรดา อสต.ชาวเมียนมาในโรงพยาบาลสนาม ภารกิจการ “สร้าง” อสต. ครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่ท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงาน

งานของเขาคือการเข้าไปฝึกอบรมชาวเมียนมาที่อาสามาเป็นล่ามและเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อย การทำงานในแต่ละวันที่โรงพยาบาลสนาม เขาต้องสวมใส่ชุดป้องกันโรค (พีพีอี) เข้าไปเพื่อดูแลความเป็นอยู่พื้นฐานและระบบของโรงพยาบาล และเพื่อให้อาสาฯ สามารถเป็นกลไกที่ดูแลผู้ป่วยด้วยกันเองได้มากที่สุด

“พวกเขา (อสต.) จะช่วยเซฟการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ไม่ให้เพิ่มขึ้น พวกเขาช่วยลดความเสี่ยง” รุ่งเรืองกล่าวถึงความสำคัญของอาสาแปลล่ามชาวเมียนมา

รุ่งเรือง ซึ่งกำลังเข้าไปฝึกอบรมอาสาในโรงพยาบาลสนามแห่งที่สองที่ อบต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร บอกว่าโรงพยาบาลสนามแต่ละแห่ง ผู้ป่วยแต่ละชุด มีความท้าทายและอุปสรรคที่ต่างกัน

บางแห่งอาจมีชาวเมียนมาที่พูดไทยได้ไม่กี่คน หรือไม่คุ้นชินกับการใช้อุปกรณ์สื่อสารแท็บเล็ตที่พวกเขาอาจไม่เคยใช้มาก่อน รุ่งเรืองยังต้องสร้างความเข้าใจและการรับรู้ถึงจุดบริการต่าง ๆ เช่น จุดรับยา และอื่น ๆ พูดได้ว่าการทำงานในแต่ละพื้นที่ต้องปรับไปตามสถานการณ์

“(ที่โรงพยาบาลสนามแห่งที่สอง) มีคนฟังและพูดภาษาไทยได้ 3-4 คน… เราเลยจำลองสถานการณ์ให้พวกเขาฝึกก่อน”

นอกจากการฝึก อสต.แล้ว ช่วงแรก ๆ รุ่งเรืองบอกว่า กิจวัตรประจำวันมีตั้งแต่การนำออกกำลังกาย การนำสวดมนต์ ซึ่งเขาบอกว่าการเอาศาสนาเข้าช่วยเป็นเครื่องมือที่ดีที่ช่วยให้การอยู่ร่วมกันของผู้ป่วยจำนวนมากเป็นไปด้วยความราบรื่น

นักวิชาการโสตฯ ประจำโรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งทำงานร่วมกับล่ามประจำทีมของโรงพยาบาลอีกหนึ่งคน บอกว่า หัวใจของการทำงานที่โรงพยาบาลสนาม คือการสร้างความวางใจให้กับผู้ป่วย

“การที่ผมลงไปแต่งพีพีอีหนึ่งครั้ง เราต้องการเรียนรู้เขาให้มากที่สุดว่ากลุ่มนี้เขามีความเป็นอยู่ยังไง” รุ่งเรืองกล่าว

สมุทรสาคร

สมุทรสาคร

เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การขนส่งทางทะเลหลวง การขุด หรือเจาะบ่อน้ำ การค้าวัสดุก่อสร้าง การติดตั้งประปาสายหลัก การติดตั้งไฟฟ้าสายหลัก การทำเกลือให้บริสุทธิ์ การปั้มโลหะ การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตกาว การผลิตซิเมนต์ ปูนขาว การผลิตน้ำมันพืช การผลิตน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตรองเท้า การผลิตเคมีภัณฑ์ การผสม บรรจุ กรด ด่าง การรีดโลหะ ผลิตเหล็ก การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การเคลือบ ชุบ อาบขัดโลหะ ข่าว ตรวจหวย ธุรกิจ บริการซัก อบ รีด บริษัท ร้านค้า ร้านอาหาร วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.สมุทรสาคร สพม.เขต 10 สมาคม หน่วยงานราชการ อบต. อาหาร เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสามัญ โอทอป

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.