จ.สมุทรสาคร พร้อมฉีดวีคซีน COVID-19 ล็อตแรก 70,000 โดส ต้น มี.ค.นี้ แนะประชาชนศึกษาข้อมูลวัคซีน เพราะมีทั้งข้อดี-ผลข้างเคียง
วันนี้ (24 ก.พ.2564) นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกัน COVID-19 และสถานที่สำหรับการจัดฉีดวัคซีน ว่า ในช่วงแรกกระทรวงสาธารณสุขยังต้องการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้รับฉีดวัคซีนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจึงใช้โรงพยาบาลเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลกระทุ่มแบน และโรงพยาบาลเอกชนอีก 7 แห่ง โดยศักยภาพบุคลากรคาดว่าจะฉีดได้ประมาณ 4,000 คน ต่อวัน หากเป้าหมาย 70,000 คาดกว่าจะใช้เวลาฉีดประมาณ 17-20 วัน
นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร
บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะเป็นกลุ่มแรกที่จะรับการฉีดเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อทดสอบระบบแผนปฎิบัติและบริหารจัดการว่ามีปัญหาหรือไม่
ส่วนล็อต 2 หากไม่มีปัญหากลุ่มประชาชนทั่วไปจะได้รับจัดสรร และหากได้เป็นแสนโดสอาจต้องกระจายไปตาม รพ.สต. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้รวดเร็วที่สุด แต่ต้องจัดหน่วยแพทย์ไปช่วยดูเพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วยเช่นกัน
จ.สมุทรสาคร เตรียมความพร้อมรองรับการฉีดวัคซีน 8 ขั้นตอน ตั้งแต่การเช็กสุขภาพเบื้องต้น จุดฉีด จุดพักคอย 30 นาทีหลังฉีดเสร็จ รวมทั้งติดตามผลหลังจากฉีดวัคซีน ในรอบ 3 วัน 7 วัน และ 1 เดือน
ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีน จะมีทีมแพทย์ สถานพยาบาลที่พร้อมดูแลผู้ที่เกิดอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน หรือหากมีอาการแทรกซ้อนใน 24-48 ชม. ก็จะมีการติดตามอาการผ่านแอปพลิเคชัน
สำหรับผู้ที่ทำหน้าในการฉีดวัคซีนหลัก ๆ เป็น พยาบาลเพราะมีอัตรากำลังเยอะที่สุด
นพ.นเรศฤทธิ์ กล่าวว่า วัคซีนโควิดจะช่วยให้เกิดความบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้น โดยตนจะรับการฉีดวัคซีนด้วย เพราะเป็นทั้งผู้บริหารของแพทย์ และต้องนำประชาชนให้เกิดความมั่นใจด้วย
วัคซีนก็เหมือนกับยาชนิดหนึ่ง มันคือสารเคมี บางคนอาจจะแพ้ บางคนไม่แพ้มาก บางคนอาจะแพ้มาก แพ้น้อย แพ้รุนแรง จึงได้มีการวางระบบเพื่อป้องกันให้มากที่สุด เราต้องเตรียมรับความเสี่ยง ประชาชนก็ต้องชั่งนัำหนักและตัดสินด้วยความสมัครใจ อยากให้เห็นข้อดีข้อเสียของมัน แล้วก็ไม่โทษกัน
วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกที่นำเข้ามาใช้ใน จ.สมุทรสาคร เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กับเชื้อตาย มีความปลอดภัยสูง มีกระบวนการผลิตโดยเทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างทีมวิจัยและผลิตวัคซีนของไทย และมีองค์ความรู้ในการต่อยอดผลิตด้านปริมาณ
นพ.นเรศฤทธิ์ ระบุสาเหตุ ที่ จ.สมุทสารคร ได้รับจัดสรรมามากที่สุดในประเทศ เพราะเป็นจังหวัดเสี่ยงสูงของการระบาด ซึ่งจะต้องมีการฉีดวัคซีนเป็นจังหวัดแรก ๆ โดยในล็อตแรก ฉีดช่วงเดือน มี.ค. ส่วน เม.ย. จะเป็นการฉีดรอบที่ 2 ของคนกลุ่มเดิมที่เคยฉีดไป ร่วมกับกลุ่มใหม่ที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้น เช่น ประชากร 400,000 คน ใน จ.สมุทรสาคร ที่มีทะเบียนฐานข้อมูล ยังไม่รวมแรงงานอื่น ๆ ประชากรแฝง เป็นต้น
ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ใน จ.สมุทรสาคร อาจต้องมีการพูดคุยกันในเชิงนโยบายกันอีกครั้ง การฉีดวัคซีนก็เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยรุนแรง หรือ เสียชีวิต เราควรจะฉีดในร้อยละ 60-70 ของประชากรส่วนใหญ่
ต้องทำความเข้าใจว่าวัคซีนมีข้อดี ความเสี่ยงอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนงานรองรับไว้พร้อมเสมออยู่แล้ว
ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร สะท้อนแผนบริหารจัดการที่ต้องใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนว่า ช่วงแรกของการการฉีดเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเฉพาะโรงพยาบาลสมุทรสาคร มีบุคลากรเกือบ 2,000 คน จะใช้เวลาฉีดเฉลี่ยวันละ 500 คน ซึ่งการฉีดช่วงแรก ยังเป็นการทดลองระบบด้วย หากไม่มีปัญหาก็จะให้บริการ ประชาชนกลุ่มใหญ่ได้ได้ด้วย โดยวันนี้เริ่มทดลองระบบกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแล้ว
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผอ.โรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร
นพ.อนุกูล กล่าวว่า จากการสำรวจบุคลากรของโรงพยาบาลสมุทรสาคร พบว่ากว่าร้อยละ 90 สมัครใจของรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด นี่อาจสะท้อนได้ถึงเรื่องการทำความเข้าใจร่วมกัน
สำหรับความแตกต่างของการฉีดวัคซีนปัองกันโควิด มีความแตกต่างจากแผนบริหารจัดการฉีดวัคซีนทั่วไปใน 2 ประเด็น คือ 1.ปริมาณในแต่ละวันที่ฉีดวัคซีน หากเป็นวัคซีนชนิดอื่น ก็ฉีดตามสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่กว่าจะฉีดครบจนเกิดภูมิคุ้มกันมากพอที่จะป้องกันโรคจะใช้เวลานาน แต่สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดจะต้องระดมกำลังมาช่วยกันฉีดวัคซีน
และ 2.วัคซีนที่นำมาใช้เป็นแบบเร่งด่วนที่ผ่านการอนุมัติตามมาตรการแบบฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) (EUA) ที่หลายประเทศใช้มาตรการนี้ เป็นรูปแบบที่อนุมัติใช้วัคซีนแบบยังทดลองไม่ครบในระดับทั่วไป แม้มีความปลอดภัยแต่ยังต้องเก็บข้อมูล
ดังนั้นการเก็บข้อมูลที่มากในจำนวนผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะเป็นภารกิจที่เพิ่มขึ้น โดยจะต้องเก็บข้อมูล 3 ครั้งต่อคน ต่อ 2 เข็ม รวมเป็นเก็บข้อมูล 6 ครั้ง ซึ่งเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาก แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบไอทีมาช่วย มีแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” มาช่วยอีกทาง ซึ่งจะช่วยติดตามภาวะแทรกซ้อนได้สะดวกขึ้น ซึ่งต้องติดตามข้อมูลกันทุก ๆ การหลังการฉีดวันที่ 1 วันที่ 7 และ วันที่ 30
หากติดตามข้อมูลผู้รับการฉีดวัคซีนโควิดต้องติดตามทุกราย แม้จะไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม ระบบ “หมอพร้อม” จะเก็บข้อมูล ส่งไปที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทันที
การใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน EUA ในบ้านเราเท่าที่ติดตามข้อมูล ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ใช้วิธีนี้ ที่เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของทั่วโลก จริง ๆ ความปลอดภัยมีอยู่ระดับหนึ่งแล้ว จาการทดลองในสัตว์ แต่แค่ยังไม่ครบตามหลักของการทดสอบ เหลือการติดตามอาการข้างเคียงเท่านั้น แต่ความปลอดภัยทดสอบแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งจริง ๆ หลักของการฉีดวัคซีนก็ขึ้นอยู่กับบางประเภทของวัคซีนทั่ว ๆ ไป บางชนิด ใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าจะรู้ผลทดสอบ แต่สำหรับสถานการณ์โควิด ถ้าเรารอนานขนาดนั้น โรคอาจแพร่กระจาย หรือ เปลี่ยนสายพันธุ์ไปได้
วัคซีนกว่าจะมาถึงไทย ผ่านการทดสอบ ไม่ค่อยกังวลเรื่องคุณภาพ แต่กังวลว่าจะฉีดประชาชนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ในจังหวัดมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากกว่า 60% ของประชากรในจังหวัด
สำหรับเหตุผลของความจำเป็นในการเร่งฉีด ตามหลักวิชาการแล้ว เชื้อโควิดจะไม่ระบาดได้รวดเร็ว และทำให้การควบคุมโรคระบาดบริหารจัดการได้ง่ายมากขึ้นเยอะ แต่การที่ประชาชนจะมีภูมิได้ถึงร้อยละ 60 ของทั้งจังหวัด นี่คือภาระงานที่จะต้องทำต้องดูว่าร้อยละ 60 ได้เร็วแค่ไหน ถ้าทำได้ภายใน 3 เดือน ก็จะหยุดยั้งการแพร่กระจายได้เร็ว แต่หากร้อยละ 60 ภายใน 1 ปี ก็ถือว่าช้าเพราะยังมีการกระจายของเชื้อโควิดในพื้นที่อยู่
วัคซีนโควิดล็อตแรก ยังไม่ฉีดให้กลุ่ม ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีอายุน้อยกว่า 18 ปี และหญิงมีครรภ์
สำหรับข้อมูลวัคซีนที่จะจัดสรรมาที่จังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้ ทาง ศบค. ระบุเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า มีจำนวน 70,000 โดส ที่จัดสรรมาที่ จ.สมุทรสาคร แบ่งเป็น 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 8,000 คน 2. เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว 46,000 คน 4.ประชาชนทั่วไปและแรงงาน 10,000 คน