สมุทรสาครติดโควิดเหลือ 202 ราย รองผู้ว่าฯเผยมี 13 รง.ร่วม Bubble & Seal จำกัดแรงงานเดินทาง
รายงานข่าวจากจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ณ เวลา 24.00 น. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 202 ราย แบ่งเป็นคนไทย 35 ราย และต่างด้าว 167 ราย รวมยอดสะสม 14,893 ราย ราย หายป่วย/จำหน่ายแล้ว 8,827 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย ค้นหาเชิงรุกสะสมไปแล้ว 162,432 ราย
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยถึงกรณีปฏิบัติการทลายรังปลวก พื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาครว่า จากการที่ได้มีการพูดคุยและทำงานร่วมกัน ขณะนี้เชื่อได้ว่าทลายรังปลวกได้หมดแล้ว คือได้พบต้นตอของสาเหตุที่มีกลุ่มผู้ติดเชื้ออยู่มากๆ ซึ่งหลายคนเรียกว่า รังปลวก และได้มีการค้นหาสาเหตุว่า การติดเชื้อมากนั้นน่าจะมาจากการไม่เว้นระยะห่างอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของการทำงานที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน พูดจากัน เล่นด้วยกัน เป็นต้น จึงทำให้การแพร่เชื้อกระจายตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วและวงกว้าง
ขณะที่สถานการณ์โดยรวมของจังหวัดสมุทรสาคร ณ วันนี้ที่มีตัวเลขเริ่มลดลงแล้วนั้น ตามหลักสถิติของสาธารณสุขก็เชื่อได้ว่าน่าจะดีขึ้น เมื่อเทียบกับแนวโน้มการสุ่มตรวจในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในเขตพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว กับ อำเภอกระทุ่มแบน ก็ไม่มีการพบเชื้อเพิ่ม
ส่วนการพบเชื้อยังคงอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะในจุดที่เป็นศูนย์การแพร่ระบาด ดังนั้นจึงทำให้การควบคุมการระบาดของโรคเป็นไปได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงนำมาซึ่งมาตรการ Bubble & Seal สถานประกอบการหรือโรงงานเป้าหมาย ในพื้นที่ 2 ตำบลคือ ตำบลท่าทราย กับ ตำบลนาดี ที่ทางจังหวัดสมุทรสาครได้ออกประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด
นายธีรพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ประกาศจังหวัดสมุทรสาครดังกล่าวที่ออกมานั้น เนื่องจากว่าทางจังหวัดต้องการที่จะให้ประชาชนทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา หรือว่าประเทศอื่นๆ ให้เข้าใจถึงกระบวนการการทำ Bubble & Seal เป็นระยะเวลา 28 วัน ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลนาดี กับ ตำบลท่าทราย และมาตรการนี้ไม่ได้หมายถึงว่า จะใช้กับสถานประกอบการทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ แต่จะใช้ควบคุมเฉพาะสถานประกอบการหรือโรงงานที่เป็นโรงงานเป้าหมาย ตามที่ทราบกันแล้วเท่านั้น
พร้อมกันนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ต้องปฏิบัติ คือ ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การเดินทางไปที่สถานที่ทำงานหรือกลับจากสถานที่ทำงาน หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และหรือได้รับอนุญาต จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ,ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชน ที่มีประชาชนหนาแน่น
ให้ลูกจ้างของสถานประกอบการติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และ “DDC care” เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรคในห้วงระหว่างการควบคุม
ให้ผู้ประกอบการกำกับดูแลให้แรงงานดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ให้เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือผู้ดูแลสถานที่ชุมชน ดำเนินมาตรการทางการสาธารณสุข เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จนเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จังหวัดสมุทรสาครโดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดสมุทรสาคร อาจจะพิจารณาสั่งปิดสถานที่ หรือสั่งหยุดการประกอบการที่เป็นเหตุแห่งการแพร่ของโรคติดต่อ อันตรายหรือโรคระบาดได้
รวมถึงให้เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ และสถานที่อื่นที่ให้เช่าพักอาศัยดำเนินการ ตามมาตรการสาธารณสุข และควบคุม ตรวจตรา กำชับผู้พักอาศัยให้ดำเนินการตามมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสอดส่องบุคคลภายนอกมิให้เข้ามาภายในบริเวณที่พักอาศัย
และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กำกับ ดูแล และให้ข้อแนะนำแก่ผู้ประกอบการและแรงงานของสถานประกอบการ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
นายธีรพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการ Seal จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่มีที่พักอาศัยให้กับแรงงานอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน
ขณะที่การ Bubble จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่แรงงานพักอาศัยอยู่ภายนอก เป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงาน กับ ที่พักอาศัย จะแวะกลางทางตรงจุดไหนไม่ได้ และเมื่อถึงที่พักแล้วก็ต้องอยู่แต่ภายในเคหะสถานเท่านั้น
ซึ่งกระบวนการ Bubble นี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคได้ผลจริง
ส่วนการดูแลแรงงานของสถานประกอบการที่ต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble & Seal ทางนายจ้างก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดหาเรื่องอาหารต่างๆ และความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตประจำวันในช่วง 28 วัน หรือสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
นอกจากนี้ยังมีโรงงานเป้าหมายนอกเขตพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครอีกบางแห่ง โดยโรงงานเหล่านี้ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการ Bubble & Seal เช่นกัน
รวมๆ แล้วในขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครมีสถานประกอบการ หรือโรงงานที่ต้องใช้ Bubble & Seal อยู่ประมาณ 13 แห่งด้วย เป็นในเขตพื้นที่ควบคุมประมาณ 7 แห่ง และนอกเขตพื้นที่ควบคุมอีกราวๆ 6 แห่ง
ส่วนที่ต้องมีการตีกรอบให้พื้นที่ตามประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษนั้น ก็เนื่องจากมีทั้งโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีหอพักจำนวนมาก และมีผู้พักอาศัยจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบให้มีมาตรการการเฝ้าระวังที่สูงขึ้นนั่นเอง
นายธีรพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับมาตรการ Bubble & Seal เป็นการขับเคลื่อนการทำงานด้านการควบคุมโรคในกลุ่มผู้ที่ไม่พบเชื้อ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของสถานประกอบการนั้นๆ ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป ไม่สามารถที่จะหยุดการผลิตได้ เพราะจะส่งผลกระทบโดยรวมระดับประเทศ
ซึ่งการดำเนินการ Bubble & Seal ภายใน 28 วัน 2 ตำบล คุมโรงงานเป้าหมายนั้น หากทุกคน ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะช่วยกันทำลายแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโควิดให้หมดไปจากจังหวัดสมุทรสาคร แล้วตามด้วยการช่วยกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนตระหนักถึงการป้องกันตนเองและความร่วมมือเพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด – 19