จากกรณีที่ ศบค. ได้แถลงถึงมาตรการในการตรวจ “แอนติบอดี้ หรือ ภูมิคุ้มกันส่วนตัว” ในจังหวัดสมุทรสาคร วันละ 8,000 คน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 64 เป็นต้นไปนั้น
วันนี้ (13 ก.พ. 64) นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ชี้แจงถึงแผนการตรวจว่า สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครได้เตรียมการตรวจพร้อมแล้ว โดยจะใช้วิธีตรวจทั้งหมด 3 วิธี คือ 1. Rapid Test เป็นการตรวจที่หน้างาน จะตรวจด้วยวิธีนี้ประมาณ 30,000 คน ทราบผลภายใน 3 ชั่วโมง 2.ตรวจแบบอีไลซา (ELISA) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 30,000 คน เป็นการทดสอบที่ใช้แอนติบอดี้ และการเปลี่ยนแปลงของสีในการวิเคราะห์หรือหาตัวตนของสาร นิยมใช้ในการหาความเข้มข้นของแอนติเจนในสารละลาย และเป็นวิธีที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยทางการแพทย์ รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ในโรงงานเช่นกัน วิธีนี้จะทราบผลภายระยะเวลาประมาณ 3 – 4 วัน และ 3.ตรวจแบบ neutralizing antibody โดยห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 2,000 คน ทราบผลภายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการตรวจแบบอีไลซา (ELISA)
นายแพทย์อนุกูล กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจหาภูมิคุ้มกันนั้น เหตุผลหนึ่งคือ เพื่อการศึกษาและวิจัยลักษณะการเกิดภูมิคุ้มกันของโรค รวมถึงวิเคราะห์ระยะเวลาหรืออายุของภูมิคุ้มกัน และอาจนำไปสู่มาตรการที่จะผ่อนคลายมากขึ้นในสมุทรสาคร โดยการตรวจหาภูมิคุ้มกันนี้จะใช้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่ม Bubble & Seal ซึ่งเคยตรวจหาเชื้อแล้วผลเป็นลบหรือไม่พบเชื้อเท่านั้น ส่วนประชาชนทั่วไป ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีความจำเป็นจะต้องตรวจหาภูมิคุ้มกันนี้
ทั้งนี้จังหวัดสมุทรสาครจะเริ่มตรวจหา “แอนติบอดี้” หรือเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันส่วนตัว ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ” กับบุคคลที่อยู่ในกลุ่ม Bubble & Seal ซึ่งเคยตรวจหาเชื้อแล้วผลเป็นลบหรือไม่พบเชื้อ โดยจะตรวจให้ได้ประมาณวันละ 8,000 คน ขึ้นไป มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ราวๆ 40,000 คน ซึ่งแต่ละคนจะต้องตรวจซ้ำ 2 ครั้ง มีระยะเวลาในการดำเนินการ 2 สัปดาห์