วันพุธ ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
โรคที่เมื่อเป็นแล้ว ยาที่มีอยู่รักษาไม่ได้ จนอาการป่วยแค่เล็กน้อยลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งถ้ากินยาที่รักษาได้ผล อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายได้ในแค่ไม่กี่วัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
นี่คือความหมายของ “เชื้อดื้อยา” หรือ “ซูเปอร์บั๊ก”
ถ้ายังจำกันได้ ตัวอย่างที่ชัดเจน กรณีผู้ว่าฯสมุทรสาคร ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทีมแพทย์ได้ออกมาแถลงข่าวถึงสาเหตุ
ที่ทำให้ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อาการทรุดหนัก ยังถอดเครื่องช่วยหายใจไม่ได้ทั้งที่ให้ยากำจัดเชื้อโควิด-19 ไปจนหมดสิ้นแล้ว ก็เพราะเกิดการติดเชื้อดื้อยาในปอด แพทย์ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพิ่มอีก 1-2 ตัว เวลาที่พบเชื้อดื้อยา แพทย์ต้องเปลี่ยนยาปฏิชีวนะไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอยาที่เจ้าซูเปอร์บั๊กสยบยอม นั่นหมายถึงการรักษาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น
ในแต่ละปี “เชื้อดื้อยา” หรือ Superbug ทำให้คนไทยเสียชีวิตราว 38,000 คน ถือว่าพิษภัยไม่ด้อยไปกว่าโควิด-19 ยาที่ใช้รักษาเชื้อดื้อยาคิดเป็นมูลค่า 2,539-6,084 ล้านบาท นั่นหมายถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท หรือ
ร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เชื้อดื้อยามาจากฟาร์มสัตว์ได้ด้วย
ซูเปอร์บั๊ก ปะทะ โควิด-19 วิกฤต x 2
เชื้อดื้อยา เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้อง ทำให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตัวเองจนคงทนต่อยา ปัญหาเชื้อดื้อยาในฟาร์มสัตว์สาเหตุสำคัญ เช่น ใช้ยาไม่ตรงโรค ใช้ผิดขนาดผิดช่วงเวลา ไม่หยุดยาตามกำหนด พอใช้ผิดวิธีก็ไม่ได้ผล จึงต้องเพิ่มขนาดยา หรือเปลี่ยนเป็นยาที่แรงขึ้น หมูในฟาร์มยังได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากการเลี้ยงแบบไร้สวัสดิภาพ เช่น คอกแคบ การตัดตอนอวัยวะ การหย่านมเร็วเกินไป การใช้สายพันธุ์ที่ตัดแต่งให้ตัวใหญ่และโตไวผิดธรรมชาติ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของสัตว์ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่ายฟาร์มจึงใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาล
คนเลี้ยงยังเข้าใจว่ายาปฏิชีวนะเป็น “วิตามินบำรุง” ช่วยให้หมูโตไว ได้น้ำหนัก จึงให้ยาแบบรวมหมู่ โดยผสมลงในอาหารหรือน้ำในปริมาณต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน และนั่นเป็นสาเหตุให้เชื้อดื้อยา ที่สำคัญ ยาที่สัตว์กิน ส่วนใหญ่เป็นยากลุ่มเดียวกับที่เราใช้กัน เมื่อเราป่วย ยาตัวเดียวจึงรักษาไม่ได้
เราติดเชื้อดื้อยาได้จากคนที่มีเชื้อ และจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม ในรูปแบบของการสัมผัสโดยตรง การกินอาหารที่ปนเปื้อนไปจนถึงเชื้อดื้อยาที่เล็ดลอดจากฟาร์มสู่พื้นดินหรือแหล่งน้ำโดยรอบ
ยุทธศาสตร์ สุขภาพดี หนึ่งเดียว
ประเทศไทยมี แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ภายใต้แนวคิด “สุขภาพ
หนึ่งเดียว” เป้าหมายหลักคือลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคนร้อยละ 20 และในสัตว์ร้อยละ 30 รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาแก่ประชาชน
ในส่วนของการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ เน้นควบคุมการผลิตและใช้ยาผ่านมาตรการทางกฎหมาย รวมถึงการ “ให้รางวัล” แก่ผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์ที่ไม่ใช้ยา “แบบสมัครใจ” สิ่งที่หายไปคือมาตรการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ เพราะถ้ายังเลี้ยงสัตว์แบบเดิม สัตว์ก็ยังป่วย การใช้ยาจึงจำเป็น รวมทั้งไม่มีการพูดถึงการรายงานผลการใช้ยาที่โปร่งใสและตรวจสอบได้เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างเหมาะสม
สถานการณ์เชื้อดื้อยา หลังยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้
ต้นปีนี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนยุทธศาสตร์ฯ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดทำรายงานสรุปสาระสำคัญการค้นพบเชื้อดื้อยารอบฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยทดลองเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนจากแหล่งน้ำสาธารณะที่มีการปล่อยของเสียจากฟาร์มหมูจำนวน 6-10 แห่ง พบว่า 6 ใน 9 ฟาร์มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม
นักวิจัยและอาสาสมัครยังได้สัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยในชุมชนและเกษตรกรรอบบริเวณฟาร์ม ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังมีฟาร์มมาตั้งในเขตชุมชนส่วนใหญ่ยินดีให้ข้อมูลแต่ขอไม่เปิดเผยชื่อ
ชาวบ้านที่อาศัยใกล้ฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม – “ผมเชื่อว่าต้องมียาหรือมีเชื้อโรคในคลองนี้ เราไม่อยากให้ฟาร์มมาตั้งใกล้ชุมชนแบบนี้ เพราะมันส่งผลต่อการเกษตรและความเป็นอยู่ของเรา”
เกษตรกรรายย่อย – “เวลาที่ฟาร์มปล่อยน้ำลงแปลงข้าว ข้าวไม่โต บางต้นเสียหาย บางต้นตาย ปลาอาศัยในแหล่งน้ำ
แบบนี้ไม่ได้ จริงๆ มันกระทบทั้งระบบนิเวศนี่แหละ เคยร้องเรียนไปแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
“ปัญหาเชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก หลายคนไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน แม้แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะสร้างผลกระทบมหาศาล ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน” โชคดี สมิทธิ์กิตติผลผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกกล่าว
ข้อเสนอจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้แก่ การมีนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องโรคแบบรวมกลุ่มในฟาร์ม และการพัฒนาสวัสดิภาพการเลี้ยงสัตว์ให้สูงขึ้นตามมาตรฐาน FARMS (Farm Animals Responsible Minimum Standard) ทั้งเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ การใช้สายพันธุ์ธรรมชาติและไม่เร่งโต ซึ่งจะช่วยให้สัตว์มีสุขภาพกายใจที่ดี ไม่เจ็บป่วยง่าย ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะลดลง ความเสี่ยงในการก่อซูเปอร์บั๊ก
ที่จะลดลงตามไปด้วย