วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่องการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครที่ออกมานั้น เนื่องจากว่าทางจังหวัดต้องการที่จะให้พี่น้องประชาชนทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา หรือว่าประเทศอื่นๆ ให้เข้าใจถึงกระบวนการการทำ Bubble & Seal เป็นระยะเวลา 28 วัน ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลนาดี กับ ตำบลท่าทราย และมาตรการนี้ไม่ได้หมายถึงว่า จะใช้กับสถานประกอบการทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ แต่จะใช้ควบคุมเฉพาะสถานประกอบการหรือโรงงานที่เป็นโรงงานเป้าหมาย ตามที่ทราบกันแล้วเท่านั้น
ส่วนสาระสำคัญว่าด้วยการให้พื้นที่ของตำบลนาดีและตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด และควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมกันนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ต้องปฏิบัติ คือ ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การเดินทางไปที่สถานที่ทำงานหรือกลับจากสถานที่ทำงาน หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และหรือได้รับอนุญาต จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ,ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชน ที่มีประชาชนหนาแน่น,ให้ลูกจ้างของสถานประกอบการติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และ “DDC care” เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรคในห้วงระหว่างการควบคุม,ให้ผู้ประกอบการกำกับดูแลให้แรงงานดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ,ให้เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือผู้ดูแลสถานที่ชุมชน ดำเนินมาตรการทางการสาธารณสุข เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จนเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จังหวัดสมุทรสาครโดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดสมุทรสาคร อาจจะพิจารณาสั่งปิดสถานที่ หรือสั่งหยุดการประกอบการที่เป็นเหตุแห่งการแพร่ของโรคติดต่อ อันตรายหรือโรคระบาดได้ , ให้เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ และสถานที่อื่นที่ให้เช่าพักอาศัยดำเนินการ ตามมาตรการสาธารณสุข และควบคุม ตรวจตรา กำชับผู้พักอาศัยให้ดำเนินการตามมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสอดส่องบุคคลภายนอกมิให้เข้ามาภายในบริเวณที่พักอาศัย และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กำกับ ดูแล และให้ข้อแนะนำแก่ผู้ประกอบการและแรงงานของสถานประกอบการ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
ซึ่ง นายธีรพัฒน์ฯ ชี้แจงอีกว่า สำหรับมาตรการ Seal จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่มีที่พักอาศัยให้กับแรงงานอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน ขณะที่การ Bubble จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่แรงงานพักอาศัยอยู่ภายนอก เป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงาน กับ ที่พักอาศัย จะแวะกลางทางตรงจุดไหนไม่ได้ และเมื่อถึงที่พักแล้วก็ต้องอยู่แต่ภายในเคหะสถานเท่านั้น ซึ่งกระบวนการ Bubble นี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคได้ผลจริง
ส่วนการดูแลแรงงานของสถานประกอบการที่ต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble & Seal ทางนายจ้างจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดหาเรื่องอาหารต่างๆ และความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตประจำวันในช่วง 28 วัน หรือสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังมีโรงงานเป้าหมายนอกเขตพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครอีกบางแห่ง โดยโรงงานเหล่านี้ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการ Bubble & Seal เช่นกัน รวมๆ แล้วในขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครมีสถานประกอบการ หรือโรงงานที่ต้องใช้ Bubble & Seal อยู่ประมาณ 13 แห่งด้วย เป็นในเขตพื้นที่ควบคุมประมาณ 7 แห่ง และนอกเขตพื้นที่ควบคุมอีกราวๆ 6 แห่ง ส่วนที่ต้องมีการตีกรอบให้พื้นที่ตามประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษนั้น ก็เนื่องจากมีทั้งโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีหอพักจำนวนมาก และมีผู้พักอาศัยจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบให้มีมาตรการการเฝ้าระวังที่สูงขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นายธีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการ Bubble & Seal เป็นการขับเคลื่อนการทำงานด้านการควบคุมโรคในกลุ่มผู้ที่ไม่พบเชื้อ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของสถานประกอบการนั้นๆ ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป ไม่สามารถที่จะหยุดการผลิตได้ เพราะจะส่งผลกระทบโดยรวมระดับประเทศ ซึ่งการดำเนินการ Bubble & Seal ภายใน 28 วัน 2 ตำบล คุมโรงงานเป้าหมายนั้น หากทุกคน ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะช่วยกันทำลายแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโควิดให้หมดไปจากจังหวัดสมุทรสาคร แล้วตามด้วยการช่วยกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนตระหนักถึงการป้องกันตนเองและความร่วมมือเพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด – 19
ขณะที่ความคืบหน้าเกี่ยวกับตลาดกลางกุ้งนั้น หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ได้คลี่คลายลงแล้ว โดยทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงเรื่องของระบบสาธารณสุขทั้งพื้นที่การค้าขาย และที่พักอาศัย ตามแผนหรือรูปแบบที่ได้นำเสนอมาให้ทางจังหวัดพิจารณาก่อนที่จะลงมือปฏิบัติหรือปรับปรุงตลาดกลางกุ้งใหม่นั้น ในขณะนี้ปรากฏว่า ทางผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแพกุ้ง – แพปลา ในตลาดกลางกุ้ง ยังคงดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ภายในกันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ดี จึงยังไม่ได้ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจประเมิน ดังนั้นเมื่อยังไม่ได้ตรวจประเมินก็จะยังไม่สามารถเปิดทำการค้าขายได้ ซึ่งจะเปิดได้เมื่อไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับทางผู้ประกอบการว่าจะดำเนินการปรับปรุง แล้วเสร็จเมื่อไหร่นั่นเอง แต่คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ ก็จะยังไม่มีการเปิดค้าขาย
โดยทั้งนี้มองว่า การที่ตลาดกลางกุ้งจะกลับมาเปิดค้าขายกันอีกครั้งนั้น ต้องใช้เวลาเพื่อการปรับปรุงตามกระบวนการสาธารณสุข แม้จะช้าไปบ้างแต่ได้มาตรฐานและค้าขายได้ยาวนาน มีความน่าเชื่อถือ มีความมั่นใจจากบุคคลภายนอก ดีกว่ารีบเร่งแต่ไม่ได้รับความมั่นใจ