เป็นอีกเรื่องน่ากังวลใจที่ไม่อาจปล่อยผ่าน สำหรับสถานการณ์ ‘ประมงไทย’ จากที่เคยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2553 กลับกลายเป็นประเทศที่โดน ‘ใบเหลือง’ จากสหภาพยุโรป (อียู) หลังมีปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู)
รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และใช้เวลากว่า 4 ปี อียูจึงประกาศปลดใบเหลืองประมงไทยช่วงต้นปี 2562
อย่างไรก็ตาม การขาดศักยภาพในการบริหารจัดการทำให้วิถีประมงไทยเปลี่ยนไป การประมงไทยซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยยอดการส่งออกอาหารทะเลที่ตกลงกว่าครึ่ง ที่สำคัญคือการออกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชาวประมง
กลุ่มชาวประมงหลากหลายส่วนจึงร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เนื่องด้วยปัญหาของข้อกฎหมายที่มีบทลงโทษอัตราสูงถึงหลักแสนล้าน เป็นโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และปัญหาการกำหนดวันทำการประมงที่กำหนดให้ทำการประมงได้เพียง 240 วัน แต่ชาวประมงกลับต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี

นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ผู้รับเรื่องร้องเรียน เคยกล่าวไว้เนื่องใน ‘วันประมงแห่งชาติ’ 24 กันยายน 2564 เน้นย้ำว่า ประมงเป็นอาชีพที่สำคัญมากของพี่น้องประชาชน รัฐบาลควรจะให้ความสนใจและให้การดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย
“ขณะนี้พี่น้องชาวประมงกำลังตกทุกข์ได้ยากและลำบากในเรื่องการทำมาหากิน เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลให้ความใส่ใจแล้วช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะมีการเสนอ พ.ร.ก.เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประมง ผมอยากให้กฎหมายนี้ได้เอื้อแล้วเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงของประเทศ เพราะเป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งทีเดียว และสุดท้ายผมอยากให้ชาวประมงทุกคนมาคอลเอาต์เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้สามารถดูแลพี่น้องชาวประมงทุกคนของประเทศไทยได้ ชาวประมงเป็นอาชีพหลักของประเทศไทยที่ไม่ควรจะถูกละเลย”
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.เรวัตไม่นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่ตรวจสอบและหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง ล่องเรือจากท่าเรือครัวบ้านประมง ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มุ่งอ่าวไทย พร้อมพูดคุยหารือในแนวทางแก้ปัญหา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงไทยอย่าง นิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล นายกสมาคมเครือข่ายยุติธรรมประมงไทยและหนึ่งในคณะทำงานเพจ ประมงไทยรายวัน : Daily Thai Fisheries ผู้อภิปรายปัญหาของตัวบทกฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน พร้อมด้วย มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ผู้ให้การสนับสนุนและขับเรือนำชมวาฬบรูด้า ซึ่งสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวไทย
เริ่มหลักแสน ถึง 30 ล้าน โทษสูง ปรับหนัก
ประมงไทยตายเรียบ!

นิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล นายกสมาคมเครือข่ายยุติธรรมประมงไทย ย้อนเล่าสถานการณ์ก่อนปี 2558 ว่าการส่งออกอาหารทะเลมีนโยบายมุ่งเป็น ‘อาเซียนซีฟู้ดฮับ’ โดยขณะนั้นมียอดส่งออกประมาณ 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกอาหารรวม โดยอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารรวมมีประมาณ 2 ล้านล้านต่อปี แต่เป็นอาหารทะเลถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี หลังปี 2558 เราเหลือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่การหายไปครึ่งหนึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประมงไทยแค่ครึ่งเดียว มันมากกว่าครึ่ง เพราะยอดที่ยังขึ้นอยู่คือยอดนำเข้า
ในตัวกฎหมายมีปัญหาของเรื่องการไม่เข้าใจบริบทของประมง
“ปัญหาหนักคือการลงโทษที่รุนแรงเกินไป เรือไทยไม่มีมูลค่าเท่ากับเรือยุโรป แต่เวลาลงโทษไปถามยุโรปมา เรือประมงไทยไปทำประมงในต่างประเทศแล้วผิดกฎหมายโดนปรับ 1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบจากการตั้งบทลงโทษสูงเกี่ยวข้องกับทั้งเรือในไทยและต่างประเทศด้วย” นิธิวัฒน์กล่าว
เมื่อถามย้ำในมุมมองของสมาคมเครือข่ายยุติธรรมประมงไทยว่า ‘ต้นตอปัญหา’ คืออะไร
นิธิวัฒน์ให้ข้อมูลย้อนหลังกลับไปในประเด็นการแข่งขันทางการค้า
“ความจริงต้นตอของปัญหาเกิดจากการแข่งขันทางการค้า เริ่มประมาณปี 2552-2553 จะเห็นว่าการแข่งขันการส่งออกเรื่องของทูน่าเป็นปัจจัยหลัก เพราะการส่งออกทูน่าของไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก บวกกับเวลานั้นเรากำลังได้เป็นสมาชิกใน The Law of the Sea เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกี่ยวโยงไปยังองค์กรระหว่างประเทศ จนถึงองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ที่ระบุว่ากฎหมายของเราจะต้องปรับปรุงให้เข้ากับ International Plan of Action (IPOA)
ประเทศไทยในขณะนั้นเรามีการออกกฎหมายมาก่อนการเป็นพระราชกำหนดประมง เรามีพระราชบัญญัติการประมง 2558 พระราชบัญญัติแบบนี้จะมีความชัดเจนและแก้ปัญหาในเรื่องของไอยูยู ที่อียูกดดันเราได้มากกว่าพระราชกำหนด แต่ว่าบทลงโทษต่ำแค่หลักหมื่น สูงก็หลักแสน แต่บทลงโทษพระราชกำหนดมันเริ่มต้นด้วยหลักแสน จบด้วย 30 ล้าน จึงเป็นปัญหาของชาวประมงเป็นหลัก และกฎหมายตัวใหม่จะเป็นเรื่องกฎหมายของมาตรการปกครองด้วย เป็นเรื่องของอำนาจเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจผิดรูปแบบ มาตรการปกครองใช้อำนาจก่อนที่ศาลกำหนด พระราชกำหนดปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เพราะฉะนั้น ชาวประมงประเทศไทยจึงตายเรียบ” นิธิวัฒน์อธิบาย
ยุโรป-ไทย บริบทต่าง
ทำบริหารจัดการยากในทางปฏิบัติ
เมื่อเกิดปัญหา ก็ต้องหาทางแก้ ถามว่าแนวทางควรเป็นอย่างไร นิธิวัฒน์ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า
“ในการแก้เราก็ไม่รู้ว่าจะบริหารการจัดการกันอย่างไร การบริหารการจัดการประมงมีตัวแปรเยอะมาก ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีคณะประมงอยู่ แต่อาจารย์มาคุยกับผมบอกว่ามีเด็กมาเรียนน้อยมาก แต่มายุคนี้มันจำเป็นต้องเรียนบริหารจัดการประมง เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ทั้งประเภทของประมง ทั้งเรื่องเครื่องมือประมง ทั้งเรื่องทรัพยากร พัวพันกันไปหมด เพราะฉะนั้นต้องมีคนไปเอาความรู้พวกนี้
สำหรับประเด็นกฎหมาย พ.ร.บ.ประมงปี 2558 ระบุว่าการบริหารจัดการทรัพยากรใช้หลักสถิติ ในนิยามเขียนไว้ว่าสถิติประมงคืออะไร แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ในปี 2558 การบริหารจัดการประมงต้องจัดการโดยจุดอ้างอิง
“จุดอ้างอิงคือสิ่งที่จะบอกว่าเราจะทำประมงได้เท่าไร ประเทศเรา อียูแนะนำให้ใช้ MSY (The Maximum Sustainable Yield) หรือผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน แต่ MSY เวลาปฏิบัติมันยากเพราะ MSY ต้องใช้กับสัตว์แต่ละตัว ซึ่งวัดความยั่งยืนของทะเลไม่ได้ จึงใช้ไม่ได้เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายมาก เราไม่ได้จับสัตว์น้ำเป็นแต่ละชนิด ขณะที่ยุโรปจับแบบนั้น เครื่องมือทำได้แบบนั้น ของเราไม่มีแบ่งว่าเป็นอวนกุ้งอย่างเดียว มีปลาติดด้วยเพราะว่าในทะเลมีสัตว์หลากหลาย
ประเทศไทยต้องใช้หลักการในจัดการคือ OA หรือ Open Access คือต้องจับสถิติทุกตัว ทุกวันนี้อวนลากจับปลาเราประกาศสัตว์อยู่ 10 ชนิด ช่องอื่นๆ กลายเป็นปลา 60-70% ของปริมาณปลาทั้งหมดเราลงไว้เป็นปลาไก่ หรือปลาเป็ด คือปลาที่ส่งไปยังโรงงานปลาป่นเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ เป็นปลามูลค่าต่ำ เพราะฉะนั้น เวลาต่างประเทศเขามาตรวจว่าคุณทำลายทรัพยากรมากเพราะคุณเอาปลามาทำปลาป่น ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ แต่ความจริงแล้ว ใน 60-70% นั้นเรามีอวนลากคู่ที่จับได้ปลาไส้ตัน ที่ส่วนใหญ่นำมาทำน้ำปลา และอีกส่วนนำมาทำอาหารสัตว์บ้าง เราอธิบายตรงนี้ไม่ได้ เรื่องพวกนี้ทฤษฎีมันมาผิด เพราะเริ่มต้นก็ใช้ MSY แล้ว นี่คือปัญหาการแนะนำของอียู” นิธิวัฒน์ชี้ปม
แห่ลงทะเบียน‘เรือพื้นบ้าน’ 75,000 ลำ
แต่ตรวจสอบ‘เอกลักษณ์’ได้แค่ 5,000 ลำ

อีกประเด็นที่จุดประสงค์ตั้งต้นดี นั่นคือการตอบสนอง ‘ความยั่งยืน’ แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง กลับเกิดปัญหาในการจัดการ
“จากการบอกว่าเราต้องตอบสนองความยั่งยืน เพราะฉะนั้น ต้องควบคุมการทำประมงในพื้นที่ของสัตว์เติบโต เราก็เชื่ออียูจดทะเบียนทำประมง เพราะ พ.ร.ก.กำหนดว่าต้องขึ้นทะเบียนเรือ ปรากฏว่าประมงพื้นบ้านจาก 30,000 ลำ เป็น 75,000 ลำ ผมเชื่อว่าประมง 30,000 ลำ คงจะสำรวจจากชาวบ้าน ไม่ได้ทำสำมะโนแบบลงทะเบียน แต่เมื่อมีการผลักดันให้ลงทะเบียนจากรัฐบาลเพื่อให้มีการชดเชยกรณีต่างๆ เขาก็แห่ไปลงทะเบียน ที่ผมเป็นห่วงคือตอนนี้ตรวจสอบเอกลักษณ์เรือประมงได้แค่ 5,000 ลำ เรือที่ไม่ลงทะเบียนยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าเรือประมงพื้นบ้านนั้นมีมากกว่า 75,000 ลำ แต่เรือเหล่านี้มีเครื่องมือที่มีศักยภาพพอสมควร แต่เรือลำเล็กลากเรือได้เป็นกิโลเมตร จะเห็นว่ามันขาดการจัดการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะกลัวเจ้าของเรือประมงพื้นบ้านมาก เพราะจะกลายเป็นรังแกชาวบ้าน การประมงพื้นบ้านจึงเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก” นิธิวัฒน์กล่าว ก่อนระบุด้วยว่า ประมงพื้นบ้านตามหลักของ FAO แล้วจะมีกฎพิเศษที่ไม่ได้ตึงแบบประมงพาณิชย์ แต่ใน พ.ร.ก.ไม่ได้เขียนไว้ว่าจะมีการลงโทษขนาดไหน
“ในความเป็นจริงแล้วประมงพื้นบ้านไม่ควรจะไปปรับเขาเลย ควรใช้วิธีการตักเตือนในหลักการของ FAO เขาใช้ Awareness (การตระหนักรู้) เข้าไปให้ความรู้ ขอความร่วมมือต่างๆ ความสมัครใจมากกว่า” นายนิธิวัฒน์กล่าว
จากเรือประมง สู่เรือ‘ลอยอังคาร’
ปรับตัวเลี้ยงชีพในวันวิกฤต

ปิดท้ายด้วยตัวเลขการลดลงของสัตว์ทะเลโดยรวมที่ส่งผลกระทบทั้งการประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
“ผมว่าพื้นที่ในอ่าวไทย สัตว์น้ำที่หายไป 30-40% เหตุผลมาจากอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ปัญหาไม่ได้อยู่แค่การประมง แต่ส่งผลไปถึงอุตสาหกรรมทุกเรื่อง ปัจจุบันนี้ได้รับผลกระทบไปหมด ห้องแช่เย็น ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ตอนนี้แช่หมู แช่ไก่ กำลังการผลิตใน ต.มหาชัย ลดฮวบ จากห้องเย็นแช่ปลา เรือจากประเทศไทย เราเคยจับได้ 1.6 ล้านตันต่อปี จากปลาต่างประเทศประมาณ 6-7 แสนตันต่อปี นำเข้าโดยตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นทูน่า 7 แสนถึง 1 ล้านตันต่อปี
อาชีพที่นิยมมากของชาวประมงตอนนี้คือเอาเรือประมงไปเป็นเรือลอยอังคาร ให้เรือเช่าไปลอยอังคารก็พอมีรายได้เลี้ยงเพราะประมงจะไม่ไหวกันแล้ว” นิธิวัฒน์ทิ้งท้าย
ด้าน นพ.เรวัต ในฐานะ ส.ส.และรองประธาน กมธ. ที่ลงพื้นที่และร่วมรับฟังปัญหาของชาวประมง ยืนยันที่จะนำเรื่องปัญหากฎหมายประมงอภิปรายในรัฐสภาอีกครั้งจนกว่าเรื่องจะคลี่คลายได้
นี่คือปัญหากฎหมายประมงไทยที่ถึงเวลาแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม