“วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร พ้อถูกเทวัคซีน จากเดิม 3 แสน เหลือแค่ 7 หมื่นโดส
วันที่ 19 มิถุนายน 2564 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวในรายการ ”ไม่แพ้แน่นอน เราจะผ่านไปด้วยกัน” ว่า ในวันที่ 19 มิถุนายน 2564 สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย แต่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมาในเดือกรกฎาคม 2564 จำนวน 70,000 โดส ซึ่งถือว่าน้อยมาก จากเดิมจะได้รับการจัดสรร จำนวน 3 แสนกว่าโดส
ทั้งที่สมุทรสาครมีปัจจัยสำคัญหลายประการ ได้แก่ 1) มีตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ยังไม่ลดลงเลย ความหวังอยู่ที่วัคซีน 2) สมุทรสาครมีโรงพยาบาลสนาม ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะคนสมุทรสาคร แต่ได้เปิดรับผู้ติดเชื้อโควิดจากจังหวัดอื่นเข้ามาใช้ด้วย 3) สมุทรสาครเป็นศูนย์กลางโรงงานที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย 5-6 แสนล้านบาทต่อปี ด้วยปัจจัยเหล่านี้ควรจัดสรรวัคซีนให้จังหวัดสมุทรสาคร ไม่ควรจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่
“เมื่อเช้านี้ (19 มิ.ย. 2564) ได้หารือกับคณะกรรมการส่วนกลางไป ซึ่งเท่าที่ทราบว่าหลังจากคณะกรรมการส่วนกลางได้รับฟังปัญหาแล้วบอกว่า จะหาแนวทางแก้ไข โดยจะมึการขยับให้เป็นหลักแสนโดส แต่ยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่ ผมพยายามผลักดันเต็มที่แล้ว”
นายวีระศักดิ์กล่าวต่อไปว่า วานนี้ (18 มิ.ย. 2564) ได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครได้มีการพิจารณาเรื่องวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้มาชี้แจงในที่ประชุมว่า ได้สั่งจองไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 2 แสนโดส โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามรับรอง ซึ่งตนพร้อมที่ลงนามให้ แต่วันนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้มาจำนวนเท่าไหร่ และได้มาเมื่อไหร่ เพราะมีหลายหน่วยงานต่างสั่งจองเข้าไปกันจำนวนมาก
“สาเหตุที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก เพราะได้รับแจ้งจากผู้ติดเชื้อ และโรงงานต่าง ๆ ให้ความร่วมมือแจ้งเข้ามา จึงได้เข้าไปตรวจ ทั้งนี้เมื่อตรวจพบได้ขอความร่วมมือปิดกิจการชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด”
สำหรับเรื่องการเปิดการเรียนการสอน ตนได้มีโอกาสคุยกับภาคการศึกษาและส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งคุยกับภาคธุรกิจในสมุทรสาคร อยากจัดการเรียนการสอนให้ใกล้เคียงกับการเรียนการสอนปกติ หรือออนไซต์ให้ได้มากที่สุด แทนที่จะนั่งเรียนออนไลน์ที่บ้าน
จึงได้ตั้งเงื่อน 3 ประการที่จะให้เด็กไปโรงเรียนได้คือ 1.สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ต้องไม่รุนแรง 2.วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องได้ฉีดตามกำหนด ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีการชะลอ หรือมีการเลื่อนหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนดก็ไม่สามารถเปิดเรียนได้ 3.มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา โดยมี นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธาน และให้ศึกษาธิการจังหวัด เป็นเลขาฯ โดยมีกรรมการอีกหลายคน ทั้งนี้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะมีหน้าที่กลั่นกรองความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่งที่จะเรียนออนไซต์สมควรจะให้ดำเนินการหรือไม่
“โรดแมปที่วางไว้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงปลายเดือนมิถุนายนี้คงสามารถเปิดเรียนแบบออนไซต์สำหรับเด็กโต ระดับชั้นมัธยมศึกษา ปวช. ปวส. ปริญญา ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ได้ฉีดวัคซีนครบ ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2564 สามารถเปิดการเรียนการสอนในส่วนเด็กประถม ศูนย์เด็กเล็กได้
รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่วางไว้กับชุมชน หมู่บ้านต่าง ๆ คิดว่าสามารถดำเนินได้ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป แต่ทั้งหมดขึ้นกับปัจจัยสถานการณ์โควิด และการได้รับจัดสรรวัคซีนครบถ้วนหรือไม่”
ที่สำคัญนอกจากการฉีดวัคซีนให้คนไทยแล้ว ต้องเริ่มฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติ นี่คือโรดแมปที่จังหวัดวางไว้ แต่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าวัคซีนไม่มาตามที่ขอไป และสถานการณ์แย่กว่าปัจจุบัน ก็ต้องปรับเปลี่ยนกันอีกครั้งให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย
“แต่ถึงฉีดวัคซีนแล้ว ต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง วัคซีนเพียงแต่ลดอาการของโควิดที่หนักก็เบาลง โอกาสเสี่ยงน้อยลง ฉีดวัคซีนแล้วอย่าชะล่าใจ เช่น วัดป้อมโชติการามทยอยพบผู้ติดเชื้อโควิดถึงวันนี้ รวม 39 ราย แบ่งเป็นพระ 17 องค์ เณร 10 องค์ แม่ชี 1 คน ฆาราวาส 11 คน ในค่ายทหารยังมีเป็นครอบครัวเดียว และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงพบอีก 5-6 คน
ตัวเลขการพบผู้ติดเชื้อในสมุทรสาครตอนนี้มีทั้งในโรงงาน และในครอบครัว หลายคนจึงเป็นห่วงเมื่อเปิดเทอม เด็ก ๆ จะติดเชื้อกันจำนวนมาก จึงยังให้เรียนออนไลน์ ซึ่งคนติดเชื้อคือ ครูติดเชื้อมาจากที่บ้าน ตอนนี้ในเมืองไทยมีเกือบครบทุกสายพันธุ์แล้ว”