อีกทั้งยังเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย โดยมีรูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ขนาด 6 ช่องจราจรไป-กลับตลอดเส้นทาง
นอกจากนี้แล้ว กรมทางหลวงยังมีแผนดำเนินการโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 82 ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 47.4 กม. สิ้นสุดที่แยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี โดยคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2570 และจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2573 อีกทั้งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 รวมงานปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงเดิม
โดยมีจุดเริ่มต้นที่ กม.0+000 บริเวณสามแยกวังมะนาว ช่วงทางแยกต่างระดับที่บรรจบกันระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และถนนพระราม 2 พื้นที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และสิ้นสุดที่ กม.36+718 บนทางหลวงหมายเลข 3510 บริเวณสี่แยกเข้า อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ระยะทางรวม 36.80 กม.
ด้าน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคมให้ข้อมูลว่า ในส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมทั้งการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นโดยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ด้วยระบบ M-Flow 100% โดยในขณะนี้ กรมทางหลวงอยู่ระหว่างเตรียมเสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ให้กระทรวงฯ พิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประมูล PPP ได้ภายในปี 2565 และดำเนินการติดตั้งระบบในปี 2566-ปลายปี 2567 จากนั้นจึงเปิดให้ประชาชนวิ่งฟรีทดสอบระบบและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2568
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมกล้าพูดได้เต็มปากว่า เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้ก้าวต่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่สำคัญจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม 2 โดยเมื่อรวมการขยายเส้นทางถนนพระราม 2 ด้านล่างขนาด 14 ช่องจราจรไป-กลับ ประกอบกับทางยกระดับ 6 ช่องจราจรไป-กลับ จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้รวม 20 ช่องจราจรไป-กลับตลอดแนวเส้นทาง รวมระยะทาง 90.8 กม.
ด้าน “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการมอเตอร์เวย์เส้นดังกล่าว เริ่มสัญญาวันที่ 1 ก.พ.2565 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 ม.ค.2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขออนุมัติรูปแบบร่วมลงทุนจากกระทรวงคมนาคมและ ครม. คาดว่าจะเสนอได้ภายใน มี.ค.2565 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2565 ก่อนจะวางแผนติดตั้งงานระบบในปี 2566-2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568
แน่นอนว่า เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะทำให้การเดินทางเชื่อมจากกรุงเทพฯ ไปภาคกลางตอนล่าง เพื่อไปสู่ภาคใต้ จะช่วยเติมเต็มแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี เสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนจากในพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อพื้นที่ภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เชื่อมโยงครอบคลุม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ตลอดจนแบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม 2 เรียกได้ว่าปิดมหากาพย์รถติดพระราม 2 ได้แน่นอน.
กัลยา ยืนยง