กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ศึกษาดูงานโครงการเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับลึกหนึ่งพันเมตร ที่จังหวัดสมุทรสาคร
วันที่ 19 มกราคม 2566 พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และคณะ เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง และระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมคณะผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานระดับจังหวัด ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครมีการเจริญเติบโตในภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีการเปิดโรงงานแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาลในการประกอบกิจการ โดยมีสถิติการใช้น้ำบาดาล 5 ปีย้อนหลัง มากกว่า 110,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือมากกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังมีแนวโน้มของการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งความต้องการใช้น้ำบาดาลที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการแย่งใช้น้ำในระดับชั้นน้ำบาดาลเดียวกัน และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในอนาคต
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่างและระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค สร้างความมั่นคงและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมสามารถนำข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อภาคการผลิตในอนาคตต่อไป
นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่า ขั้นตอนการสำรวจบ่อน้ำบาดาลความลึกหนึ่งพันแปดเมตร ประกอบด้วย การศึกษาสภาพธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ และข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน การเจาะสำรวจบ่อที่ความลึกหนึ่งพันแปดเมตร พร้อมเก็บตัวอย่างดิน หิน ทุกๆ 1 เมตร และวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำโคลนที่ใช้ในการเจาะ การหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ เพื่อตรวจสอบชั้นดินชั้นหินที่ระดับความลึกต่างๆ จนถึงระดับความลึกหนึ่งพันแปดเมตร การเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลด้วยวิธี Packer Test เพื่อคัดเลือกชั้นน้ำที่ดีที่สุด การก่อสร้างและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล พร้อมสูบทดสอบปริมาณน้ำระยะเวลา 75 ชั่วโมง เพื่อประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคต