การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเมื่อช่วงปลายปี 2563 สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด กลายเป็นงานหนักของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ที่ได้รับการขนานนามว่า “ฮีโร่” ที่เข้ามาต่อสู้กับเชื้อไวรัสอุบัติใหม่อย่างไม่ย่อท้อ ทว่าการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 กลับหนักหนาสาหัสเกินกว่าบุคลากรในพื้นที่จะรับมือได้ทั้งหมด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครจึงจำเป็นต้องส่งหมายขอแรงฮีโร่ทางการแพทย์จากจังหวัดอื่น ๆ มาช่วยยับยั้งการระบาดของโรคในที่สุด
ฮีโร่เสื้อกาวน์จากหลายจังหวัดจึงมุ่งหน้าไปยังสมุทรสาครด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยว และพร้อมต่อกรกับเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มร้อย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ที่มารวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อร่วม “ภารกิจทำให้โรคสงบ” ในครั้งนี้
สา’สุขเรนเจอร์รวมพล!
หลังจากช่วงเวลาเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ผ่านไป ทุกคนต่างต้องกลับไปทำ “หน้าที่” ของตัวเองต่อ เช่นเดียวกับคุณโจ้ นักวิชาการสาธารณสุขแห่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านน้ำมิน ที่กลับมาทำงานในวันแรกของปีอย่างสดใส แต่ “หนังสือคำสั่ง” จากเบื้องบนที่ส่งมาถึงมือในตอนเย็นของวันนั้น ก็ทำให้เขาตระหนักแล้วว่า ปี 2564 นี้ จะไม่เหมือนปีอื่น ๆ ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
“เปิดมาทำงานวันแรกก็มีคำสั่งให้เราต้องไปสมุทรสาคร ตอนนั้นก็มีความกังวลอยู่ในระดับหนึ่ง คือเราไม่ได้กลัวโรค แต่เรากังวลเรื่องการทำงานในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคยมากกว่า” คุณโจ้เล่าย้อนกลับไป
ไม่เพียงคุณโจ้เท่านั้นที่ได้รับ “หมายเรียกฮีโร่” แต่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงคำยังได้คัดเลือกผู้ร่วมขวบนการนี้มาอีก 2 ท่าน ซึ่งเป็นน้องใหม่ไฟแรงประจำพื้นที่และมีความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์ของรุ่นพี่แล้ว นั่นคือ คุณมาณี นักวิชาการสาธารณสุข ปฏิบัติงานประจำ รพ.สต.บ้านปางมดแดง ซึ่งเธอยอมรับว่ารู้สึกกังวล เมื่อทราบว่าตัวเองต้องไปช่วยจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเธอมีประสบการณ์การทำงานเพียง 2 ปี แต่เธอก็เปลี่ยนความกังวลเป็นพลัง เพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตัวแทนจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ไม่ต่างจากคุณพลอย นักวิชาการสาธารณสุขของสำนักงานสาธารณสุข อ.เชียงคำ ที่รั้งตำแหน่ง “น้องเล็ก” ของขบวนการ ที่ถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อต้องจากแม่ไปทำหน้าที่ไกลบ้าน แม้ในใจจะกังวล แต่คุณพลอยเชื่อว่า หากพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เธอจะต้องทำได้ดี
“เราเพิ่งมาทำงานใหม่ ก็มาเจอโรคระบาดเลย ตอนแรกก็กังวล ด้วยเนื้องานหรือรายละเอียดต่าง ๆ ของทางโน้นจะเป็นอย่างไร แต่เราก็พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แอคทีฟอยู่ตลอด ด้วยความที่เราประสบการณ์น้อยกว่าคนอื่น เราจึงต้องหาความรู้ให้มากกว่าเพื่อที่จะทำงานกับพี่ ๆ เขาได้” คุณพลอยกล่าว
หลังจากรู้ข่าวในช่วงเย็นของวันนั้น เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คน มีเวลาเพียงคืนเดียวที่จะเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนจะเดินทางไปจังหวัดสมุทรสาครในเช้าวันถัดไป แม้จะอยากให้เป็นเพียงฝัน แต่หน้าที่ก็ต้องมาก่อนเสมอ พวกเขาจึงทำได้เพียงให้กำลังใจตัวเอง และเดินไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ
“ด้วยหน้าที่เราก็ต้องไป ก็ไปสู้กันสักตั้ง” คุณมาณีพูด ก่อนหัวเราะเสียงดัง
หน้าที่ยิ่งใหญ่ หัวใจต้องพร้อม
ทันทีที่รถตู้จอดหน้าโรงพยาบาลสนามในจังหวัดสมุทรสาคร งานที่แท้จริงรออยู่เบื้องหน้า 3 ฮีโร่ยอมรับว่าใจหวิว ๆ แต่ตราบใดที่ยังรวมตัวกันอยู่ พวกเขาก็ไม่หวั่นไหวกับภารกิจใด ๆ ที่ถูกหยิบยื่นมา
LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP
“เราทำงานด้วยกันเป็นทีม ไปไหนก็ไปด้วยกัน ลักษณะงานที่ได้รับก็จะรับหน้างานเป็นวันต่อวัน ว่าวันนี้เราไปจุดไหนกันบ้าง บางวันอาจได้อยู่บนสำนักงาน โทรศัพท์สอบถามผู้ติดเชื้อ แล้วก็ติดตามกลุ่มเสี่ยงสูง ค้นหาผู้สัมผัส แล้วก็ให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัว แต่บางวันเราก็ได้ลงพื้นที่โรงงานเพื่อสอบสวนโรค” คุณโจ้ พี่ใหญ่ของทีมเล่า
แม้ภารกิจสอบสวนโรคจะไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรงเหมือนแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลสนาม แต่คุณมาณีเล่าว่า ความท้าทายของงานที่พวกเธอได้รับ คือ เรื่องของการสื่อสาร เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ และการได้สวมชุด PPE ลงพื้นที่สีแดงในตลาดกลางกุ้งและตลาดทะเลไทย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง
“มันตื่นเต้นท้าทาย เพราะเราเคยทำแต่งานในสำนักงาน ซึ่งเป็นงานเอกสารส่วนใหญ่ พอได้ไปลงพื้นที่ แต่ละวันก็มีเรื่องทำให้เยอะมาก งานก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยซ้ำกัน” คุณพลอยสมทบ
เหนื่อยแค่ไหนก็ไม่มีหยุด
ด้วยภารกิจที่ได้รับคือการทำให้โรคโควิด-19 ในพื้นที่สงบให้เร็วที่สุด บุคลากรทางการแพทย์ที่ลงปฏิบัติงานจึงต้องทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด แม้จะเหนื่อยล้าจนอยากกลับบ้าน แต่พวกเขาย้ำหนักแน่นว่าไม่เคยท้อ
“ช่วงแรกเราก็อยากกลับบ้านค่ะ เพราะบริบทมันแตกต่างกันมากเลย ทางโน้นเป็นโรงงาน สภาพแวดล้อมก็ไม่เหมือนบ้านเรา อากาศ อาหารการกินก็ไม่เหมือน ก็ทำให้คิดถึงบ้านอยู่เหมือนกัน แต่เราก็พยายามปรับตัว” คุณพลอยกล่าว
เช่นเดียวกับคุณโจ้ที่เล่าว่าแม้จะเหนื่อย แต่ไม่มีคำว่าท้อ แม้ในช่วงแรกจะยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรหรือต้องไปที่ไหน แต่พอเวลาผ่านไป เขาก็ได้เรียนรู้การทำงานมากขึ้น เข้าใจระบบการทำงานมากขึ้น จึงทำให้การทำงานราบรื่นและไปได้เร็ว
JACK TAYLOR / AFP
“ในการทำงาน เราก็เรียนรู้ไปพร้อมกับคนอื่น ๆ ว่าเขาทำงานอย่างไร เมื่อไปถึงหน้างานแล้วต้องทำอย่างไร แล้วเราก็โชคดีที่ได้เจอกับผู้ใหญ่ที่คอยแนะนำ คอยสอนงานให้เรา ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้จากตรงนั้นมาเยอะมาก แต่ถามว่าอยากกลับบ้านไหม ก็มีบ้าง เพราะเราทำงานตลอด ไม่ได้หยุดเลย” คุณมาณีเสริม
แม้จะรู้สึกเหนื่อย แต่ทั้ง 3 คนพูดตรงกันว่าจะยอมแพ้ไม่ได้ เพราะพวกเขาเห็นเจ้าหน้าที่ของจังหวัดสมุทรสาครทำงานทุกวัน โดยไม่ย่อท้อ ดังนั้น พวกเขาในฐานะคนนอกพื้นที่ จึงต้องช่วยเหลือให้เต็มที่จนเสร็จภารกิจ
สยบโรค ให้โลกสงบ
แม้ภารกิจนี้ต้องใช้เวลาปฏิบัติงานทั้งหมด 14 วัน แต่เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 กลับได้ทำงานในพื้นที่เพียง 11 วัน และอีก 3 วันในการกักตัว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติงานท่านหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 แต่ทุกคนก็ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือกังวลแต่อย่างใด เพราะมั่นใจในการป้องกันโรคของตัวเอง
“ระบบการทำงานบนสำนักงานก็มีการป้องกันในระดับหนึ่ง ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย มีการกันพื้นที่โต๊ะทำงาน โทรศัพท์ที่ใช้ต้องได้รับการเช็ดทำความสะอาด มีสเปรย์อยู่ตลอด แล้วถ้าได้นั่งทำงานที่โต๊ะตัวไหน ก็ต้องประจำอยู่ที่ตรงนั้นทั้งวัน เว้นแต่ในกรณีที่ลุกไปทานข้าวหรือไปเข้าห้องน้ำ” คุณโจ้เล่า
LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP
“เราพกแอลกอฮอล์อยู่กับตัวตลอด ล้างมือกันจนมือลอก” คุณมาณีเสริม เรียกเสียงหัวเราะยกใหญ่
หลังจากกักตัวในจังหวัดสมุทรสาครครบ 3 วัน เจ้าหน้าที่ของอำเภอเชียงคำก็ต้องเดินทางกลับมากักตัวต่อที่โรงพยาบาลเชียงคำอีก 14 วัน ซึ่งการกักตัวในครั้งนี้กลายเป็นระยะเวลาที่แสนยาวนานและยากลำบาก เมื่อต้องอยู่ในห้องพักผู้ป่วยคนเดียว ต้องเผชิญหน้ากับความเหงาและความโดดเดี่ยวเพียงลำพัง นอกจากนี้ ความรู้สึก “กลัวผี” ก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้การกักตัวในครั้งนี้แย่เหลือเกิน
“มันมีหลายความรู้สึก กลัวผีก็มี แต่พี่ ๆ ดูแลดีมากค่ะ ทั้งพี่จากสำนักงานสาธารณสุขและพี่ในโรงพยาบาล ส่งข้าวส่งน้ำให้ตลอด ทุกคนคอยซัพพอร์ตเรา” คุณพลอยชี้
อธิบายไม่ถูก แต่รู้สึกดี
“อย่างแรกที่เราได้รับ ก็คือประสบการณ์ที่สามารนำมาใช้ในพื้นที่ของเราได้ นำมาปรับใช้เป็นมาตรการป้องกัน หรือวางระบบการเข้าออกของคนทั้งในและนอกพื้นที่ของเราได้” คุณมาณีอธิบาย เมื่อเราถามถึงสิ่งที่ได้รับจากการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้
“ผมได้ประสบการณ์จากการไปครั้งนี้เยอะมาก มันทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องของภาวะผู้นำ อย่างผมเป็นพี่ใหญ่ของ สสอ.เชียงคำที่ไปร่วมในครั้งนี้ ผมก็เป็นเหมือนสื่อกลาง คอยประสานงานต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น หรือเรื่องของการวางตัวเมื่อเราต้องประสานงานกับคนที่ไม่รู้จัก ซึ่งไม่ใช่แค่ผมเท่านั้น น้อง ๆ เองก็คงได้เหมือนกัน” คุณโจ้กล่าว
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตัวแทนจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
และเมื่อถามว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ พวกเขายังอยากไปร่วมภารกิจนี้ไหม ทั้ง 3 ยิ้มกว้างพลางพยักหน้าพร้อมกันอย่างกระตือรือร้น แต่นอกเหนือจากประสบการณ์ที่สามารถนำมาปรับใช้กับพื้นที่อำเภอเชียงคำได้แล้ว สิ่งที่ทั้ง 3 คนเห็นตรงกัน คือ “ความภาคภูมิใจ” ที่ได้รับจากการปฏิบัติภารกิจนี้
“มันได้อะไรหลายอย่างมากจริง ๆ มันทำให้เราปลดล็อกความคิดหลายอย่าง ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ๆ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร มันเหมือนทำให้เราโตขึ้น แล้วก็ภูมิใจที่ได้ไปตรงนี้” คุณพลอยกล่าวปิดท้าย
- “อสม.” โครงข่ายมดงานที่ทำงานด้วยหัวใจ ไม่หวั่นแม้ภัยโควิด-19