ยอดติดโควิดสมุทรสาครเพิ่มขึ้น 35 ราย รวมยอดสะสมทะลุ 16,020 ราย เผยตรวจซ้ำ 4 หมื่นแรงงานปลากระป๋อง เบื้องต้นพบคนมีภูมิคุ้มกัน 20 %
รายงานข่าวจากจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ณ เวลา 24.00 น.ทางจังหวัดสมุทรสาครได้รายงานสถานการณ์ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 35 ราย แบ่งเป็นคนไทย 17 ราย และต่างด้าว 18 ราย รวมยอดสะสม 16,020 ราย จากการค้นหาเชิงรุกสะสมไปแล้ว 185,118 ราย รักษาหาย กลับบ้านแล้ว 15,455 ราย เสียชีวิตสะสม 7 ราย
วานนี้(19ก.พ.64) นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายเเพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครและคณะ เข้าตรวจเยี่ยมการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่อยู่ภายใต้มาตรการ Bubble & Seal ในโรงงานกลุ่มเป้าหมาย ณ บริษัทไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
ซึ่งได้ดำเนินการตรวจพนักงานมาเป็นวันที่ 5 แล้ว มีแรงงานของบริษัทฯ ที่ต้องเข้ารับการตรวจรวมทั้งสิ้นประมาณเกือบ 10,000 คน เฉลี่ยวันละราวๆ 2,000 คน
นายธีรพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) นี้ จะดำเนินการเฉพาะในสถานประกอบการหรือโรงงานเป้าหมายเท่านั้น ซึ่งระยะแรกสมุทรสาครได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 มีโรงงานเป้าหมาย 9 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรการ Bubble จำนวน 7 แห่ง และ มาตรการ Seal อีกจำนวน 2 แห่ง มีแรงงานเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 40,000 กว่าคน โดยได้ดำเนินการตรวจครบทุกราย
ส่วนตัวเลขผู้พบภูมิคุ้มกัน (Antibody) ณ ขณะนี้ยังมียอดที่น้อยมาก เนื่องจากว่าต้องรอผลอีกระยะหนึ่ง โดยทางสาธารณสุขจังหวัดได้ตั้งเป้าว่าจะพบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ที่ราวๆ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องทำ Bubble & Seal ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนภายหลังจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ไปแล้วนั้น
สำหรับโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรการ Bubble & Seal มาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก็จะไม่มีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปอีก ยกเว้นในส่วนของโรงงานหรือสถานประกอบการรายใหม่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble & Seal เช่นเดียวกัน
ด้าน ทนพ. (เทคนิคการแพทย์) วินัย นามธง เจ้าหน้าที่จากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจหา Antibody ในกลุ่มแรงงานด้วยวิธี แรพบิทเทส นั้นก็พบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันประมาณร้อยละ 20 แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็น แอนตี้บอร์ดี้ชนิดไหน ดังนั้นจะต้องนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการพิเศษ เพื่อหาชนิดของแอนตี้บอร์ดี้ที่เกิดขึ้นว่าเป็นชนิดไหนกันแน่
แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือ แรงงานคนนั้นเคยรับเชื้อมา แล้วร่างกายมีความแข็งแรงทำให้เชื้อโรคไม่สามารถทำร้ายร่างกายของเขาได้ ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรก็จะต้องมีการติดตามผลกันต่อไป
สำหรับการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานเป้าหมาย 40,000 กว่ารายนี้ ใช้วิธีการตรวจทั้งหมด 3 วิธี คือ 1. แรพบิทเทส เป็นการตรวจที่หน้างาน,
2.ตรวจแบบอีไลซา (ELISA) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการทดสอบที่ใช้แอนติบอดี้และการเปลี่ยนแปลงของสีในการวิเคราะห์หรือหาตัวตนของสาร นิยมใช้ในการหาความเข้มข้นของแอนติเจนในสารละลาย และเป็นวิธีที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยทางการแพทย์ รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ในโรงงานเช่นกัน
และ 3.ตรวจแบบ neutralizing antibody โดยแลปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งภายหลังจากนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร จะดำเนินการตรวจหาภูมิคุ้มกันอีกครั้งประมาณต้นเดือนมีนาคม 2564 โดยจะตรวจซ้ำในกลุ่มแรงงานเป้าหมายที่เคยตรวจครั้งแรก (15-19 ก.พ.) แล้วยังไม่พบภูมิคุ้มกัน