สามัญสำนึก ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
หลังจากที่จังหวัดสมุทรสาครได้เปลี่ยนการบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใหม่ จากเดิมที่ใช้การตรวจเชิงรุกวงกว้างแบบการตรวจหาเชื้อไวรัส หรือ PCR มาเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือ antibody เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการ “ตีกรอบ” พื้นที่การแพร่ระบาดจากแหล่ง “รังโรค” ต้นตอใน 2 ตำบล คือ ต.นาดี กับ ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร ครอบคลุมโรงงานขนาดใหญ่ 9 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตปลากระป๋องและอาหารทะเลชั้นนำของโลก และโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทไทยยูเนี่ยน-บริษัทพัทยาฟู้ดส์-บริษัทยูนิคอร์ด-บริษัทไทยรวมสิน
เป็นการตรวจคนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานชาวเมียนมา ที่จัดเป็น “กลุ่มเสี่ยง” จากการตรวจด้วยวิธี PCR รอบแรกแล้วมีผลเป็นบวก กลับมาตรวจหาภูมิคุ้มกันซ้ำอีกครั้ง เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 อีก โดยแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะทำการตรวจซ้ำครั้งนี้มีจำนวนถึง 40,000 คน
การเปลี่ยนวิธีการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 มาเป็นแบบจำเพาะเจาะจงลงไปที่กลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ในหมู่แรงงานต่างด้าวครั้งนี้ จะถูกดำเนินการต่อหลังจากที่จังหวัดดำเนินการตรวจแบบ “เหวี่ยงแหเชิงรุก” มาตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบันพบข้อเท็จจริงว่า ใน 3 อำเภอของสมุทรสาคร คือ อ.บ้านแพ้ว อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมือง พบการระบาดใหญ่ที่เรียกกันว่า พื้นที่สีแดง หรือตรวจพบเชื้อ “มากกว่า” 10% เฉพาะใน ต.ท่าทราย ต.นาดี ต.มหาชัย ต.โคกขาม ต.โกรกกราก ต.บางหญ้าแพรก ต.บางกระเจ้า และ ต.ชัยมงคล
ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ใน อ.บ้านแพ้ว แทบจะไม่พบคนติดเชื้อ หรือเป็นพื้นที่สีเขียว ส่วน อ.กระทุ่มแบนตรวจพบคนติดเชื้อ “น้อยกว่า” 10% หรือเป็นพื้นที่สีเหลืองเสียเป็นส่วนใหญ่
ประกอบกับในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อผ่านระบบที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาล ได้ “ลดลง” อย่างมีนัยสำคัญ จากที่มากกว่าวันละ 30 คน ในช่วงแรก ๆ ของการระบาด ก็ลดลงมาต่ำกว่าวันละ 10-15 คน
โดยล่าสุด ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ทั้งจังหวัดพบผู้ติดเชื้อแค่ 16 คน (มาจากโรงพยาบาล) มีการค้นหาเชิงรุก 447 คน ไม่พบเชื้อ จากทั้งจังหวัดสมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อสะสม 15,753 คน แบ่งเป็น คนไทย 2,645 คน ต่างด้าว 13,108 คน ทำการตรวจเชื้อไปแล้วทั้งหมด 176,028 คน จากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าจะมีประมาณ 400,000-500,000 คน
นอกจากการตีกรอบตรวจหาเชื้อ “ซ้ำ” จากกลุ่มแรงงานเสี่ยงสูงสุดในพื้นที่ 3 ตำบลแล้ว ทางจังหวัดยังกำหนดให้เจ้าของโรงงานในพื้นที่ต้อง “รับผิดชอบ” ในการ “ควบคุม-กักกัน” แรงงานของตนเอง ตามมาตรการ bubble & seal แบบเข้มข้น ด้วยการ “ห้าม” ลูกจ้างออกนอกเคหสถานและเขตพื้นที่ควบคุม ห้ามเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่ชุมชนหนาแน่น เจ้าของหอพัก ห้องเช่า สถานที่พักที่เจ้าของโรงงานจัดให้แรงงานพักอาศัยจะต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคจากแรงงานหมู่มาก ข้ามกระจายออกไปในหลายพื้นที่ของประเทศลงให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือนับจากวันที่ตรวจเชื้อแบบหาภูมิคุ้มกันเสร็จสิ้นลงไปอีก 14 วัน หากไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ มีแนวโน้มว่าจังหวัดสมุทรสาครจะกลับมาผ่อนคลายมาตรการคลายล็อกและเปิดให้ใช้ชีวิตตามปกติได้ภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
และจะกลายเป็น “โมเดล” ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากกรณีการติดเชื้อในหมู่แรงงานต่างด้าวใน “ตลาดสด” แห่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่เป็น “คลัสเตอร์ใหม่” ที่ “ตลาดสุชาติ-พรพัฒน์” จังหวัดปทุมธานี ที่พบไปแล้วมากกว่า 100 ราย ถือเป็นต้นแบบในการควบคุมเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรอ “วัคซีน” เข็มแรกจากบริษัทซิโนแวค จำนวน 200,000 โดสแรก ที่จะเข้ามาถึงประเทศไทยในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์