ถือเป็นข่าวดีที่ชาวไทยทั่วประเทศเฝ้ารอ หลังจากทุกภาคส่วนที่ระดมสรรพกำลังลงไปในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นพื้นที่ไข่แดงของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ของประเทศไทย ต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 2 เดือนเต็มในการทำงาน กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิด ยุทธการทลายรังปลวก ตรวจสอบเชิงรุกแรงงานต่างด้าวทุกพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับ มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble&Seal)ตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวสมุทรสาคร ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันฟันฝ่าวิกฤติ จนทำให้เริ่มควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดเอาไว้ได้ในวงจำกัด
ข้อมูลขณะนี้เหลือ 2 ตำบล (ต.ท่าทราย และต.นาดี) ในพื้นที่ อ.เมืองสมุทรสาคร ยังต้องคุมเข้มเฝ้าระวังพิเศษ ขณะที่ใน อ.กระทุ่มแบน และบ้านแพ้ว ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันแล้ว
อย่างไรก็ดีเมื่อมีหลากหลายสาขาอาชีพของชาวสมุทรสาคร ยอมเสียสละในระหว่างที่จังหวัดถูกปิดล็อก ก็ย่อมมีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้แรงงานและสถานประกอบการที่อยู่ในเป้าหมายที่ยังต้องทำตาม มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล เนื่องจากแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานชาวไทยบางส่วนที่พักอยู่ตามหอพักข้างนอกก็ไม่อยากเข้ามาพักในโรงงานเพราะต้องแยกจากครอบครัว นอกจากนี้สถานประกอบการเองก็ต้องแบกรับภาระก้อนใหญ่ในการดูแลแรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายของให้กับแรงงานต่างด้าวตามจุดที่พักก็ขาดรายได้ เป็นต้น
เน้นให้คุมเข้มชุมชน–ตลาดนัดต่อเนื่อง
ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์ นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ให้ความเห็นว่า ทุกภาคส่วนต่างกำลังเร่งแก้ไขปัญหาการระบาดโควิดให้จบให้ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงตัวเลขติดเชื้อจะต้องอยู่ในระดับเลขตัวเดียวเพราะคิดว่าอย่างน้อยอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกนานมากกว่า 3 เดือนแน่นอน มันคงไม่ใช่จะจบง่าย ๆ ดูได้จากตัวเลขของมาตรการ บับเบิ้ลแอนด์ซีล ในโรงงานพื้นที่ตำบลท่าทราย ยังมีมากถึง 40,000 คน เป็นแรงงานซึ่งไม่เคยติดเชื้อแต่ก็มีความเสี่ยงเพราะอยู่ใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน เชื่อการใช้มาตรการควบคุมแรงงานไม่ให้ไปพบกับบุคคลอื่นที่อยู่ด้านนอกพื้นที่ ถือว่าเป็นวิธีที่มาถูกทางแล้วแต่ต้องใช้ระยะเวลาแน่นอนคิดว่า 28 วันอาจจะไม่จบ
“สิ่งที่ผมยังเป็นห่วงอีกเรื่องคือการระบาดในชุมชนหรือตลาดในตัวเมืองมหาชัย เพราะช่วงหลัง ๆ ส่วนใหญ่จะเริ่มพบเชื้อในกลุ่มคนไทย ซึ่งหากติดเชื้อแล้วมีโอกาสจะเคลื่อนไหวไปทั่วมากกว่าแรงงานต่างด้าวที่ส่วนใหญ่จะอยู่เป็นกลุ่มก้อนในอาณาเขตแม้จะมีจำนวนมากแต่ก็ติดตามง่ายกว่ากัน ดังนั้นอย่ามองข้ามจึงอยากให้โฟกัสไปที่ชุมชนด้วยการตรวจเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ต้องรีบคัดกรองเอาออกมาให้ได้มากที่สุด”
ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจทั้งภาคประมง ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรมีการคำนวณตัวเลขคร่าว ๆ ว่าจะเสียหายประมาณวันละ 1,500 ล้านบาท ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ต้องหยุดการผลิต การตลาดทั้งในและต่างประเทศออร์เดอร์ถูกระงับเกือบ 100% สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือความเสี่ยงในการสูญเสียตลาดที่เคยค้าขายระหว่างกันเมื่อไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องอาจจะถูกช่วงชิงจากคู่แข่งต่างประเทศ ซึ่งกว่าจะเรียกคืนมาได้คงต้องใช้เวลานานหรืออาจจะไม่ได้กลับคืนมาเลยก็เป็นได้
“ตลาดทะเลไทย” ยอดเริ่มขยับขึ้น 10%
นายชาธิป กล่าวต่อว่า สำหรับสิ่งแรกที่อยากจะให้แก้เร็วที่สุดคือควบคุมการแพร่ระบาดโควิด แม้จะต้องใช้วิธีหนักแค่ไหนก็ตามดีกว่าลากไปเรื่อย ๆ อย่างที่สองธุรกิจไหนผ่อนผันได้ต้องผ่อนผันเพื่อให้ธุรกิจเดินได้เพราะเกือบ 2 เดือนแล้วที่ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ประการที่สามอยากให้เปิดจังหวัดได้โดยไม่ต้องยึดตัวเลขแต่อยากให้ยึดสถานการณ์ด้านความมั่นใจในการควบคุมมากกว่ายึดตัวเลข เพราะยิ่งเนิ่นนานปัญหาด้านเศรษฐกิจจะตามมารวมทั้งการว่างงานจะเกิดขึ้นมากมายและความมั่นใจของคนทั้งประเทศจะมองเรามันจะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ อยากให้เริ่มเปิดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครให้มากที่สุด โดยเฉพาะอำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว เพราะ 2 อำเภอนี้ถือว่าปลอดภัย ถ้าเปิดได้ให้เปิดเพราะเศรษฐกิจจะได้เดินได้ ส่วนอำเภอเมืองอาจจะยังเปิดได้ไม่มากเพราะยังเป็นพื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้ออยู่ก็อยากจะให้ทุ่มกำลังในการรบให้เข้มข้นขึ้นจะได้ไม่กระจายออกไปในชุมชน
ด้าน นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานบริหารตลาดทะเลไทย ศูนย์การจำหน่ายอาหารทะเลแห่งใหญ่ที่สุดของประเทศ เปิดเผยว่า ตอนนี้การซื้อขายเริ่มขยับดีขึ้นมา 10% จากที่เคยหายไป 25% แม้สถานการณ์ในจังหวัดสมุทรสาครจะถูกมองในเรื่องการเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยการสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อให้ทราบว่าอาหารทะเลปลอดเชื้อโควิด-19 แน่นอน หากนำไปปรุงสุกจึงทำให้การซื้อขายที่เคยตกไปจากร้อยละประมาณ 25% กระเตื้องขึ้นมาได้ประมาณ 10% และ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากสถานการณ์ดีขึ้น ขณะนี้ยังคงมีมาตรการเข้มงวดการเข้า-ออกของผู้มาซื้อขายสัตว์น้ำในตลาดเพื่อป้องกันเชื้อ นอกจากนี้ยังออกกฎห้ามพนักงานของตลาดทะเลไทยทุกคนสูบบุหรี่และเคี้ยวหมากในระหว่างทำงาน พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ที่เข้ามาจับจ่ายซื้ออาหารในตลาดทะเลไทยกรุณางดสูบบุหรี่ในบริเวณตลาดด้วย เพราะการสูบบุหรี่พ่นควันออกมาจะมีละอองของน้ำลายติดออกมาด้วย อาจเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายเชื้อ
นางสาวอริยา ยิ้มทะโชติ เจ้าของ บริษัท ลอดช่องสยาม กรุ๊ป ประกอบธุรกิจด้านอาหารไทยที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสาคร คือ ลอดช่องสยาม เฉาก๊วยสยาม ที่โด่งดังทั้งในประเทศและส่งขายในต่างประเทศอีกหลายประเทศ เปิดเผยว่า ในการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ช่วงแรกได้รับผลกระทบทันที 100% ลูกค้าโทรฯ มายกเลิกออร์เดอร์หมดเลยเพราะกลัว ที่สำคัญลูกค้าได้สอบถามว่าเราใช้แรงงานต่างด้าวหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราใส่ใจเรื่องนี้มากนับจากที่ทราบว่ามีการระบาดตั้งแต่กลางเดือนธ.ค. 63 ก็ตื่นตัวตั้งแต่แรกแล้ว สั่งห้ามคนงานออกนอกบริษัท พร้อมยังรีบตรวจคัดกรองทันทีก็ไม่พบเชื้อ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เข้าใจเริ่มมีความมั่นใจกลับมาสั่ง 50% แต่อย่างไรก็ตามต้องรอประกาศเปิดจังหวัดเป็นทางการ เพื่อเรียกลูกค้าต่างประเทศกลับมาด้วย ซึ่งก็สูญหายไปกว่า 30-40% ตอนนี้จึงต้องรับภาระการขาดทุนเพื่อจ่ายค่าลูกน้องและค่ากินอยู่ไปแล้วหลายล้านบาท จึงต้องการให้แก้ไขให้จบไว ๆ เพื่อธุรกิจจะได้เดินหน้าเพราะสายป่านคงจะทนได้อีกไม่นานนัก
โรงงานตอบรับมาตรการ “บับเบิ้ลแอนด์ซีล”
ขณะเดียวกัน นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผวจ.สมุทรสาคร กล่าวย้ำด้วยว่า หลังจากได้ใช้ มาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble&Seal) มาได้ระยะหนึ่งตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ทั้ง 9 โรงงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจัดระเบียบของการเดินทาง การใช้รถสองแถว รถบัส รวมถึงการเดินเท้าสำหรับแรงงานที่มีห้องพักอยู่ใกล้ ๆ อันนี้ถือว่าเหนือความคาดหมาย นอกจากนี้ก็ยังมีสถานประกอบการหลายแห่งที่ดำเนินการกันเองด้วยระบบเดียวกัน ซึ่งทางจังหวัดก็มีการติดตามและรายงานผลไปยัง ศบค.มหาดไทย และ ศบก.ศบค. ทั้งเรื่องมีความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน ปัญหาอุปสรรค และการสร้างความเข้าใจกับสังคมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ได้ติดตามประเมินสถานการณ์ในทุก ๆ วัน
แนวโน้มการดำเนินงาน บับเบิ้ลแอนด์ซีล โดยแนวทางของสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้กำหนดไว้คือประมาณวันที่ 15 ก.พ.64 จะมีการตรวจแอนติบอดี กับพนักงานที่เข้าสู่กระบวนการนี้ ถึงแม้บุคคลเหล่านี้เคยตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วมีผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) แต่ก็ต้องตรวจซ้ำตามระบบการควบคุมโรค หลังจากนั้นกระบวนการนี้ก็น่าจะจบ 28 ก.พ. ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ สำหรับสถานการณ์ที่อำเภอกระทุ่มแบน และบ้านแพ้ว ก็ตรวจเชิงรุกอยู่เรื่อย ๆเช่นกัน จากการรายงานพร้อมทั้งผลแล็บ ก็ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมใน 2 อำเภอนี้ ส่วนการปลดล็อกนั้นต้องประเมินอีกครั้ง ที่สำคัญต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของสาธารณสุข.