ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งข่าวการพบผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มลดลง มีคำถามในสังคมว่าเกิดจากการตรวจเชิงรุกที่ลดลงหรือไม่
ขณะเดียวกันมีข่าวว่า 7 โรงงานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าทราย และตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร ที่เป็นแหล่งใหญ่พบการติดเชื้อจำนวนมาก มีพนักงานอีกกว่า 50,000 คนเป็นกลุ่มเสี่ยง และกระทรวงสาธารณสุขได้งัดมาตรการ Bubble&Seal มาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ข้อเท็จจริงต่างๆ ของเรื่องทั้งหมดเป็นอย่างไร
ดร.ธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้มาไขข้อข้องใจทั้งหมดผ่าน ”รายการไม่แพ้แน่นอน เราจะผ่านไปด้วยกัน” ซึ่งจัดโดยจังหวัดสมุทรสาคร
ลุยตรวจเชิงรุก2-3พันคน/วัน
สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กว่า 105 ล้านคนแล้ว สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ตัวเลข ณ เวลา 24.00น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 450 ราย 14,691 ราย มีการรักษาหาย 2,144 ราย
สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขการตรวจพบผู้ติดเชื้อยังสวิงขึ้น-ลงเล็กน้อย อาจจะเห็นตัวเลข 700-800 คน เป็นตัวเลขจากการค้นหาเชิงรุก
เราตรวจเชิงรุกจำนวนมากปูพรมมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ทั้ง 3 อำเภอ ทั้งอ.เมือง อ.กระทุ่มแบน อ.บ้านแพ้ว ตรวจปูพรม สุ่มตัวอย่างไปทุกพื้นที่ทุกตำบลที่ดูแล้วมีความแออัดหนาแน่น ก็เลยทำให้เราค่อยๆ พบเชื้อต่างๆ ที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เลยทำให้ได้พบผู้ติดเชื้อ
และเห็นว่า การติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครมีเพียงกลุ่มเดียว คือ กลุ่มกลางเมืองบริเวณตำบลท่าทราย และตำบลนาดีพบผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก ส่วนตำบลอื่นพบผู้ติดเชื้อ แต่มีปริมาณไม่มาก
ส่วนอ.บ้านแพ้วที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อ 5-10 คน และในช่วง 7-8 วันที่ผ่านมาได้เข้าไปตรวจต่อเนื่อง แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก
ส่วนอ.กระทุ่มแบน มีโซนที่ติดกับพื้นที่อ.เมืองช่วงแรกพบผู้ติดเชื้อ อยากอธิบายให้เข้าใจที่บางคนบอกเมื่อปลายเดือนมกราคม 2564 เราตรวจเชิงรุกกันมาก แต่หาผู้ติดเชื้อไม่พบ จริงๆ แล้วไม่ใช่
มันเป็นแผนการตรวจเชิงรุก เมื่อพบว่าบริเวณใดมีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ทีมสาธารณสุขจะเข้าไปตรวจให้หมด 100% และแยกคนที่พบเชื้อโควิด-19 ออกไปที่โรงพยาบาลสนาม
ขณะเดียวกันบางส่วนได้รับความร่วมมือจากโรงงาน เนื่องจากโรงงานบางแห่งมีพื้นที่กว้างก็แบ่งพื้นที่มาทำสถานที่กักตัวให้พนักงานที่ติดเชื้อกลุ่มนี้ภายในโรงงาน (Factory Quarantine – FQ) ไม่ได้ให้คนกลุ่มนี้มาทำงาน อีกส่วนหนึ่งอยู่โรงพยาบาลสนาม
จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือร่วมมือร่วมใจระหว่างทางจังหวัดกับโรงงาน จึงทำให้เราสามารถที่จะผ่านวิกฤตคนที่ติดเป็นหมื่นๆ คน สำเร็จไปได้
ตอนนี้ทางจังหวัดยังตรวจเชิงรุกอยู่ ไม่ใช่หยุดตรวจ ยังตรวจอยู่วันละ 2,000-3,000 ราย ดังนั้น อาจจะเห็นตัวเลขน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่า การตรวจน้อยลง จึงทำให้พบตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง
เป็นหลักสถิติเชิงระบาดวิทยาผมเรียนรู้มาจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นนักระบาดวิทยาว่า 1.การสุ่มตัวอย่างเป็นการประหยัดงบประมาณ 2.ไม่สามารถตรวจซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อีก
เพราะว่า ถ้าจะตรวจเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครอย่างเดียว ถ้าตรวจ 1 ล้านคน น่าจะใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้ว่า การปกป้องตนเองที่ประชาชนให้ความร่วมมือทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็น่าพอใจ การใส่หน้ากาก ล้างมือ โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างถือว่าเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เราห่างไกลจากเชื้อโควิด
ยกตัวอย่าง ถ้าไม่เดินทางไปในที่ชุมชนเบียดเสียด หนาแน่น ไม่ไปเดินตลาดนัดที่แออัด ไม่ไปโรงหนังถ้าไม่จำเป็นอย่าเดินทางไปไหน ไปซื้อของก็รีบกลับอันนี้ป้องกันได้ดีที่สุด บางทีเดินอยู่อาจมีคนจามใส่เรา ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโควิดได้
คนทำงานในจังหวัดพยายามป้องกันเต็มที่ เพราะพวกผมถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง แต่เราพยายามล้างมือ ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง อันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ผมดูแล้วถ้าเราอยู่ระหว่างรอวัคซีน เราใช้กระบวนการนี้จะช่วยป้องกันโรคได้มาก สามารถยับยั้งและหยุดโรคในจังหวัดสมุทรสาครได้
ตีกรอบพื้นที่สีแดงทำBubble&Seal
หลังจากที่ตรวจเชิงรุก และไปทลายต้นตอใหญ่ของการติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ใจกลางเมือง เราทำลายไปแล้ว ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการป้องกันต่อ
ด้วยการออกประกาศจังหวัดสมุทรสาคร กำหนดพื้นที่ตีกรอบคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู โดยให้พื้นที่บางส่วนของตำบลนาดีและตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร เริ่มต้นจากวัดพันธุวงษ์ไปทางทิศตะวันออก ตามแนวถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ จนถึงปากชอยโรงเรียนบ้านบางปิ้ง
จากปากชอยโรงเรียนบ้านบางปิ้ง ไปทางทิศใต้ตามแนวถนน จนถึงปากชอยหมู่บ้านกานดา ถนนพระรามที่ 2 จากปากชอยหมู่บ้านกานดา ถนนพระรามที่ 2 ไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนพระรามที่ 2 จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน และจากสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ไปทางทิศเหนือตามแนวแม่น้ำท่าจีน จนสิ้นสุด ที่วัดพันธุวงษ์ เป็น”พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด”
หลายโรงงานต้องมีการทำกระบวนการ Seal และ Bubble โดย Seal คือ ปิดโรงงาน โดยพนักงานจะต้องกินหลับนอน ทำงานปกติอยู่ภายในโรงงาน โดยห้ามพนักงานออกนอกโรงงาน
Bubble คือ การเดินทางระหว่างบ้านพักไปที่ทำงาน เนื่องจากพนักงานมีที่พักอยู่นอกโรงงาน มีมาตรการควบคุมเมื่อทำงานเสร็จต้องเดินทางกลับบ้านห้ามไปแวะที่ไหน เมื่อเข้าทำงานห้ามพนักงานออกไปข้างนอก และเลิกงานให้ตรงกลับบ้าน ก็พยายามไม่ให้ออกจากบ้าน ไม่ให้ออกจากที่พัก เพื่อไม่ให้ไปสัมผัสกับคนทั่วไป
จริง ๆ แล้ว หลายคนอาจได้เห็นภาพนี้บ้างแล้ว เห็นการเดินแถว เว้นระยะห่าง มีการจัดรถโดยสารรับส่งพนักงาน ทุกคนทำตัวเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งแรงงานไทย และแรงงานเมียนมา
“ก็อย่าไปแสดงความรังเกียจ เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อโควิด แต่เป็นมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ต้องการให้เกิดการเว้นระยะห่าง ที่ต้องการให้ทุกคนตระหนัก และรับรู้ว่า ทุกคนอยู่กระบวนการทำ Seal และ Bubble เป็นเวลา 28 วัน ครบกำหนดคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
คือ มาตรการที่ออกมาทั้งด้านการสาธารณสุขและทางด้านเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่กันไป จะให้โรงงานหยุดการผลิตไม่ได้ ประเทศชาติจะเกิดความเสียหาย เพราะโรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าส่งออกมากที่สุด นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย
ถ้าให้คนงานหยุดทำงาน งานก็เดินไม่ได้ ก็เสียหายอีก คนงานหยุดงานก็ไม่ได้เงิน ก็เสียหายเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป
ทางจังหวัดได้เริ่มทำกระบวนการ Seal และ Bubble มา 6-7 วันแล้ว ถือว่าดำเนินการมาได้ค่อนข้างดี และยังมีโรงงานอื่นๆอีกที่เห็นกระบวนการแบบนี้ และมาร่วมทำด้วย เพราะทุกคนก็กลัว ทุกคนก็ไม่อยากติดโควิด ทุกคนอยากกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติโดยเร็ว โรงงานอยากมีความสะอาดสะอ้าน
เพราะฉะนั้นถ้าคนในชุมชนที่อาศัยในบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์แบบนี้ในตำบลหรือในพื้นที่ต่างๆ ขอให้เป็นกำลังใจให้พี่น้องแรงงานเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ต่อไป ถือว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเรา เป็นประโยชน์กับแรงงาน เป็นประโยชน์กับจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ขอให้ทุกคนช่วยเป็นกำลังใจให้แรงงานเหล่านี้ทำตามกฎกติกาที่จังหวัดได้ประกาศไว้
ขณะเดียวกันในการทำ โครงการ Seal และ Bubble ได้มีตำรวจ ทหาร นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านลงไปช่วยก็ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการช่วยกันดูแล
ผมมีความเชื่อมั่นว่าภารกิจในเรื่องโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครน่าจะจบได้โดยเร็วถ้าพี่น้องประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครร่วมมือกันแบบนี้ การ์ดไม่ตก ใช้วิธีการเว้นระย่างการใส่หน้ากากตลอดเวลาอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ช่วงนี้แม้รักกันก็ห่างกันสักพัก เมื่อโควิดหายค่อยกลับมาเจอกันใหม่
คาดสงกรานต์ ปิดเกมโควิดได้
สัปดาห์หน้าจะมีประเพณีขึ้นปีใหม่ของจีน หรือตรุษจีน ทางจังหวัดไม่มีการจัดงานตรุษจีน ก็ฝากอวยพรพี่น้องคนไทยที่มีญาติพี่น้องเป็นคนจีนก็ดำเนินการปกติซื้อของมาไหว้บรรพบุรุษเพื่อเป็นสิริมงคล มีการไหว้เจ้าที่ต่างๆ ก็ทำตามปกติกันในครอบครัว
การซื้อของอาจใช้วิธีการ New Normal โทรสั่งและไปรับของกัน หมูสามชั้น เป็ดไก่ ก็สั่งซื้อทางโทรศัพท์ดีกว่า และนำมาไหว้กันที่บ้าน ที่ทำงาน ไม่มีการจัดงานใดๆ ทั้งสิ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่หากเป็นครอบครัวใหญ่มีลูกหลาน 50-70 คน ถ้าไม่จำเป็นใช้วีดีโอคอล ไลน์คอลกันได้ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ปกป้องญาติผู้ใหญ่เราด้วย ไม่ต้องมาสัมผัสกัน ก็อาจจะห่างกันสักปี เมื่อครบกำหนดผ่อนคลายแล้วค่อยมาจัดงานกันเต็มที่
“ผมเดาว่า เราน่าจะได้จัดงานสงกรานต์กันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ผมรับปากว่าจะจัดงาน แต่ผมดูแล้ว ช่วงสงกรานต์ปีนี้น่าจะได้จัดงาน แต่ถ้าไม่เล่นสงกรานต์ ต้องเลื่อนกันไปอีกปี คงต้องรอฉลองปีใหม่กันเลย แต่คิดว่าน่าจะได้เล่นสงกรานต์กัน แต่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลกันเอง”
เร่งจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ
มีบางคนบอกอยากให้เข้มงวดกับแรงงานชาวเมียนมาหนัก ๆ การแพร่ระบาดของโรคโควิดครั้งนี้ถือว่ามีข้อดีได้มีโอกาสจัดระเบียบอะไรหลายๆ สำหรับแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานจากเมียนมา
อยากให้มองว่า เราได้แรงงานต่างชาติเหล่านี้มาช่วยทำงาน ถ้าไม่มีชาวเมียนมาการทำงานต่างๆ จะลำบาก เหมือนเหรียญมีสองด้านมีทั้งบวกและผลลบ มีทั้งขาว มีทั้งดำ เพราะฉะนั้นเราต้องทำใจเป็นกลาง ยกเว้นกรณีแรงงานเมียนมาลักลอบเข้ามาไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย เราก็ยอมไม่ได้
เราใช้วิถีโควิดในการบริหารจัดการเรื่องแรงงานเมียนมาทั้งเรื่องความสะอาด การจัดระเบียบเรื่องที่พัก การทำงานในโรงงานต่างๆ เราพยายามทำให้ได้มากที่สุด พยายามทำเรื่องการควบคุมแรงงานเมียนมา ให้อยู่ในกฎระเบียบให้ได้มากที่สุด
“บางคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นทำได้ 100% แต่ผมว่า การทำ 100% ทำได้ยาก แต่เป้าหมายอยากทำให้ได้ 100% จริงๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขั้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ภาครัฐแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง สำคัญที่สุดคือ พี่น้องประชาชน และภาคเอกชนเท่านั้นที่จะช่วยการบริหารจัดการเรื่องนี้ได้”
เตรียมทำรพ.สนามถาวร
ที่ผ่านมาเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะมีการแยกออกไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร ปัจจุบันรองรับได้ทั้งหมด 3,200 เตียง ถือว่ามีจำนวนโรงพยาบาลสนามมากที่สุดในประเทศไทย
ตอนนี้ทางจังหวัดเตรียมจะจัดทำโรงพยาบาลสนามให้เป็นรูปธรรม รูปแบบคงทนถาวร คือเกิดเหตุเมื่อไหร่ มีสถานที่รองรับทันที ส่วนสถานที่ใดไม่จำเป็นอาจจะยุบลงไป
ต่อไปจะทำโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่รองรับคนได้จำนวนมาก เพื่อจะได้นำมาเฝ้าระวังพี่น้องประชาชนต่อไปในอนาคต
โรคโควิดไม่ใช่ว่า มีวัคซีนแล้วจะโรคหายไป หรือจังหวัดสมุทรสาครดีขึ้นแล้วโควิดจะหายไป โรคโควิดจะอยู่กับเราตลอดไป จนตายไปข้างหนึ่ง ทางการแพทย์เรียกว่า “โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น” เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ ถึงจะมีวัคซีน แต่มีการกลายพันธุ์ ตอนนี้ไข้หวัดใหญ่มีถึง 5 สายพันธุ์ เวลาฉีดวัคซีนหมอจะถามจะฉีดแบบกี่สายพันธุ์ ผมบอกมีกี่สายพันธุ์ฉีดมาให้หมด
เราพยายามรักษาตัวเราเองให้ดีที่สุด คงจะไม่มีใครรักษาสังคมได้นอกจากตัวเราเอง และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนรัฐบาลต้องการให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ
ผมเข้าใจเราเป็นมนุษย์ คนอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ผมอยู่บ้านก็เบื่ออยากออกไปนู้ดไปนี่บ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่วันนี้ต้องฮึด กลั้นลมหายใจ ไปแค่จำเป็น ช่วงนี้เพื่อนก็คุยทางไลน์ โทรศัพท์เฟสบุ๊ค วีดีโอคอล ติดต่อกัน ให้เรื่องโควิดมันจบ มันผ่านไปโดยเร็ว เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันเหมือนเดิม ผมก็อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนว่า เราอยู่ในสถานะที่ต้องอดทน แต่การอดทนทำให้เราพบเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องทำในจังหวัดสมุทรสาคร
ผมต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ร่วมมือกับทางจังหวัดค่อนข้างมาก ผมถือว่ามีถึง 95% ที่ให้ความร่วมมือ และขอให้ความร่วมมือแบบนี้มีต่อไปเรื่อย ๆ เราจะภูมิใจและดีใจมาก
เหมือนเรื่อง Seal และ Bubble ผมคาดไม่ถึงว่า แรงงานที่ทำงานในโรงงานไม่น่าจะคุมเรื่องนี้ได้ดีเท่าไหร่ พอเห็นการทำงานของทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง การปฏิบัติตนของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ผมชื่นชมว่า ทำได้ถึงขนาดนี้เป็นสิ่งที่ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร
ต้องขอบคุณแรงงานข้ามชาติ ขอบคุณเจ้าของบริษัท ขอบคุณพวกตลาดนัด ตลาดสดที่ร่วมมือช่วยกัน อดทนอีกสักนิด เดือนกุมภาพันธ์อีก 1 เดือนเราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน “เราไม่แพ้แน่นอน เราจะผ่านไปด้วยกัน”