เช้านี้ที่หมอชิต – น้ำทะเลหนุนสูงสุดเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) ส่งผลกระทบให้ตั้งแต่พื้นที่ริมแม่น้ำในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่อยลงมาจนถึงจังหวัดนนทบุรี ระดับน้ำสูงขึ้น จนเอ่อล้นตลิ่งท่วมหลายชุมชน
โดยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่า เขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะลดการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมบ้านเรือน วัด และโรงเรียน ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งคลองสาขาต่าง ๆ ระดับน้ำเริ่มทรงตัว แต่ก็ยังลดลงไม่มากนัก โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลสนามไชย อำเภอบางไทร ที่รับมวลน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ยังประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่ง บางจุดน้ำท่วมสูง ประกอบกับเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ระดับน้ำที่ท่วมอยู่แล้ว สูงขึ้นมาอีกประมาณ 30 เซนติเมตร ทำให้โบราณสถาน เจดีย์วัดสนามไชย ซึ่งเป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง อายุประมาณ 200 ปี ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกน้ำท่วมบริเวณฐานของเจดีย์แล้ว
ส่วนที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ บริเวณท่าน้ำนนทบุรี โดยทางเทศบาลนครนนทบุรี ได้เสริมแนวกระสอบทรายสูงอีกกว่า 1 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตลาดเทศบาลนครนนทบุรี รวมถึงศาลากลางจังหวัดหลังเก่า พื้นที่เศรษฐกิจ และสถานที่ราชการสำคัญอีกหลายแห่ง จากการตรวจสอบ แม้ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนนทบุรี จะลดลงจาก 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือประมาณ 2,900 ร้อยลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้บ้านเรือนนอกพื้นที่คันกั้นน้ำ และจุดลุ่มต่ำถูกน้ำท่วม รวมถึงไปพื้นผิวการจราจรในบางจุด เช่น ถนนพระราม 5 ก็มีน้ำเอ่อท่วมขัง ทำให้สัญจรลำบาก
ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจเพื่อเตรียมเยียวยาเกษตรกร รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้ว พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวังจุดเสี่ยง ริมแม่น้ำทั้งหมด 26 จุดทั่วจังหวัด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก จากอิทธิพลพายุลูกใหม่ที่จะพัดเข้าไทยในระยะนี้ด้วย
ด้าน พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหาร 6 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนนทบุรี ร่วมกันวางแผนเส้นทางการระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำเหนือที่ไหลหลาก ส่งผลให้หลายพื้นที่ตามแนวรอยต่อ รวมถึงบ้านริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บางจุดมีน้ำท่วมขัง
สำหรับแผนการบูรณาการที่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งถนน และลำคลอง มีอยู่ 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ เขตติดต่อจังหวัดปทุมธานี ช่วงถนนพหลโยธิน บริเวณอนุสรณ์สถาน และแยกลำลูกกา จุดที่ 2 ด้านทิศเหนือ เขตติดต่อจังหวัดนนทบุรี เป็นแผนพัฒนาคลองให้ช่วยระบายน้ำ จุดที่ 3 ด้านทิศตะวันตก เขตติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ช่วงถนนพระรามที่ 2 ต้องเชื่อมท่อระบายน้ำ บนถนนสายรอง และถนนสายหลัก แก้ปัญหาน้ำท่วมผิวการจราจร และจุดที่ 4 ด้านทิศใต้ เขตติดต่อจังหวัดสมุทรปราการ บูรณาการแผนการระบายน้ำถนนสุขุมวิท บริเวณปากซอยลาซาล และ ปากซอยแบริ่ง ทั้งนี้ หลายพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ได้แก้ไขปัญหาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับพื้นที่ ปรับขนาดท่อระบายน้ำ รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ประจำการตลอดฤดูฝน